วิธีรับมือกับลูกค้าที่น่ารัก 10 ประการ

ในชีวิตการทำงาน แต่ละคนก็น่าจะได้พบเจอลูกค้าที่อยากหลีกเลี่ยงให้ไกลแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้มานักต่อนักแล้ว ซึ่งทำความเอ็นดูให้คนทำงานมากน้อยต่างกัน

ในหนังสือ Web Redesign 2.0 | Workflow That Works ได้ร่างความ”น่ารัก” ของลูกค้าที่น่าหลีกเลี่ยงหรือพึงระวังเอาไว้หลายประการ ก็เลยอยากแชร์ไว้ให้ขำขำกัน แต่มีแต่ประการอย่างเดียวคงไม่ได้ประโยชน์ ก็เลยขอแชร์การรับมือในแต่ละประการจากประสบการณ์ตัวเองเอาไว้ด้วย เพราะในเมื่อเราต้องการเงิน เราจึงไม่หลีกเลี่ยง แต่ทำอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด

handlecustomer-header

ความน่ารักที่ 1 : Has a “get-it-up-quick” attitude with unrealistic schedule requests

ลูกค้าแบบนี้คือลูกค้าที่คิดว่าการสร้างกรุงโรมใช้เวลาไม่ต่างกับการเผากรุงลงกา สร้างเรือโนอาไม่ต่างกับการพับกระทงใบตอง อาการนี้มักจะเป็นกับผู้บริหารระดับสูง หรือเจ้าของโปรเจคที่มาทางสายบริหาร ไม่ใช่สายจับกังอย่างพวกเรา

เท่าที่เจอ ผู้บริหารบางท่านจะมีทัศนคติว่า งานพัฒนาเว็บ/แอพ ก็เหมือนการลงแขกเกี่ยวข้าว เพิ่มคนเข้าไปมันก็จะเสร็จไวขึ้นเอง หรือนอนน้อยลงวันละสองสามชั่วโมงก็คงไม่เป็นไร เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำงานให้เป็นปรกติอยู่แล้ว

และจริงอยู่ที่ว่า งานพัฒนาเว็บ/แอพนั้นน่ะ ส่วนใหญ่ก็เจอ impossible deadline อยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะการรับ impossible deadline นั้น เป็นความเสี่ยงที่จะโดนค่าปรับในการทำงานล่าช้าเป็นอย่างมาก และยังสร้างวงจรอุบาทว์ในการค้างที่ทำงาน กินของไม่มีประโยชน์ นอนไม่เป็นเวลาอีกด้วย

วิธีรับมือกับลูกค้าแบบนี้ก็คือ การทำ Dev Timeline ให้เคลียร์ ก่อนที่จะลงมือทำ แต่อย่าบอกแค่วันเสร็จสมบูรณ์ตู้มแค่วันเดียวเพราะผลลัพธ์มักจะเป็นโกโก้ครันช์ในหลาย ๆ กรณี ให้ซอย Timeline เป็นช่วงเล็ก ๆ และแสดง Deliverables ตามระยะให้เขาเห็นว่าเรา Deliver บางอย่างได้เป็นระยะ ๆ นะ ระยะนี้เราจะ Deliver อะไรให้ได้บ้าง ลูกค้าแบบนี้บางส่วนจะเข้าใจและจะพอรับได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องปรึกษาทีมงานก่อนนะว่าทำได้อย่างที่จะเสนอลูกค้าหรือไม่ เพราะลูกค้าแบบนี้ ถ้าไม่ได้เดดไลน์อย่างที่หวัง ทีมงานก็อย่าหวังจะเลทในสิ่งที่เสนอไปได้นัก

 

ความน่ารักที่ 2 : Wants to shortcut the process and feels it is a waste of time to address audience needs or overall strategy.

ลูกค้าแบบนี้มักจะเป็นคนที่ค่อนข้างกระตือรือร้นและมองไปถึงผลงานข้างหน้า อาจจะเป็นพวกถนัดด้นสด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คือเขายังไม่เห็นประโยชน์ในการทำ research และวางกลยุทธ์เฉพาะเว็บ ซึ่งก็เป็นไปได้อีกว่า จะเป็นลูกค้า (หรือลูกน้องของลูกค้า) ที่ไม่ชำนาญในสายพัฒนานัก แต่ก็เป็นลูกค้าที่มั่นใจว่า ตัวเองมี insight ของลูกค้ามากพอแล้ว

ลูกค้าแบบนี้จึงชอบที่จะตั้งขึ้นมาว่า ตัวเองเป็นอะไรสักอย่างของลูกค้า (หรือในบางกรณี อาจจะเป็นทุกอย่างให้ลูกค้า โดยไม่ถามลูกค้าสักคำว่าที่อยากเป็นให้น่ะอยากได้ไหมในบริบทที่นำเสนอ) และลุยเดินหน้ากับการสร้างภาพให้ตัวเองเป็นอย่างที่ตั้งไว้ด้วยวิธีเดิม ๆ เช่น สร้างโลโก้ ทำโฆษณาเก๋ ๆ ออกข่าวรัว ๆ แล้วอีกไม่กี่ปีหรือแค่ข้ามปีก็เปลี่ยนอีก ตามแต่ว่าปีนี้อยากเป็นอะไร

วิธีรับมือกับลูกค้าแบบนี้ (ในกรณีที่คิดว่าเขายังมีเวลาให้ทำอยู่) คือ ต้องเข้าใจว่า โปรเจคของเราอาจจะอายุสั้นก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ต้องไปพยายามเสนอให้มีกลยุทธ์ระยะยาวเพราะนั่นเป็นวิสัยทัศน์องค์กรซึ่งเราไม่มีหน้าที่ไปแก้ไข แต่ในเรื่องของความต้องการของ user/audience นั้น แนะนำว่า ค่อย ๆ แซะถามในมุมของลูกค้าไปเรื่อย ๆ เช่น ถามว่า “พี่ว่าลูกค้าพี่จะเปิดแอพของพี่ในกรณีไหนบ้างเหรอครับ” “พี่ว่าtarget userของพี่จะมีแอพอะไรอยู่ในมือถือของเขาบ้างคะ” “พี่คิดว่าคนที่จะเริ่มใช้แอพของพี่จะเป็นคนแถวไหนคะ” ก็จะช่วยให้ลูกค้าได้มองในมุม user บ้างแม้ว่าจะไม่มีการ research user เป็นจริงเป็นจังก็ตาม

 

ความน่ารักที่ 3 : Doesn’t know what the content should be but wants it to “look cool”

ลูกค้าแบบนี้ ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ก็ไม่คิดว่านั่นคือปัญหา และมักจะเป็นลูกค้าที่สวมบทบาทเป็น master mind ลูกค้าแบบนี้คือลูกค้าที่มักจะบอกให้ทำมาสิบอันแล้วมาเลือก พอกัดฟันทำสิบอันจริง ๆ ก็มักจะไม่เลือกสักอัน แต่จะคิดเอาแต่ละอันลองมายำอย่างนั้นอย่างนี้ และใครต้องเป็นคนยำให้ดู ก็พวกตูนั่นแหละ

เป็นธรรมดาที่หลาย ๆ ครั้งเราจะเจอลูกค้าแบบนี้และชอบจ้างเรามาเป็นมือเป็นเท้าเฉย ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว การทำงานให้ลูกค้าแบบนี้ เบิร์นสมองไม่ต่างกันเลยหรืออาจจะมากกว่าในส่วนที่ไม่ควรจะเบิร์นขนาดนั้น และอาจจะยังต้องมีเจโตปริยญาณในการอ่านใจลูกค้าได้อีกด้วย

วิธีรับมือก็คือ ใช้พื้นฐานจิตวิทยาที่เล่าเรียนมา และความกระตือรือร้นในการศึกษามนุษย์ที่พึงมี เข้าใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด (เอาจริง ๆ เราก็ควรจะเข้าใจลูกค้าทุกคนให้ได้มากที่สุดอยู่แล้วนะ) ทำให้เขาไว้วางใจเราบ้าง (ซึ่งก็ควรทำอยู่แล้วอีกเช่นกัน) เพื่อยังมีสิทธิมีเสียงในการต่อรองงานที่ไม่จำเป็นได้ อย่างไรก็ตาม ให้ทำใจไว้ว่า สุดท้ายงานอาจจะออกมาเป็นอะไรที่เราไม่อยากบรรจุไว้ในเรซูเม่ แต่ก็ช่างเถอะถ้าเขาจ่ายตัง

 

ความน่ารักที่ 4 : Asks to create a demo site, says “the real one will come later”

ลูกค้าแบบนี้ต้องการผลลัพธ์โดยไม่ค่อยสนวิธีการ มักจะเร่งให้ไทม์ไลน์รวนไปอีกแบบ ซึ่งมันอาจหมายถึงการพยายามให้เราเอางานจากงวดที่ยังไม่จ่ายมาทำก่อน นั่นคือการกระทบ Budget Plan ไปด้วย

ในแง่หนึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า คนเป็นลูกค้าก็อยากจะเห็นของที่จับต้องได้เร็ว ๆ มีน้อยรายที่จะสามารถอดทนรอเป็นเดือน ๆ เพื่อให้เห็นสิ่งดุ๊กดิ๊กอะไรบางอย่างให้อุ่นใจว่าทีมพัฒนาทีมนี้มันยังไม่เทเรา แต่การทำ demo site ก่อนกาลนั้น จริง ๆ ไม่เป็นผลดีแม้แต่กับตัวลูกค้าเอง deliverables อะไรก็ตามที่ออกไป ลูกค้าจะรับรู้เป็นสัญญาว่าเราจะทำเช่นนั้นเช่นนี้ แม้ว่า concept จะยังไม่ proof ก็ตาม

วิธีรับมือกับลูกค้าแบบนี้ (และอาจจะเวิร์คกับลูกค้าอื่นด้วย) คล้ายคลึงกับความน่ารักที่ 1 ก็คือ การซอยย่อย dev timeline แบ่ง deliverables ให้เห็น และตีโป่ง interactive prototype บางส่วนหลัก ๆ ให้ลูกค้าดูเล่นบ้างเป็นระยะ ทำ demo ในส่วนที่ proof concept จาก prototype แล้วตามไปเป็นต่อน ๆ

(ในส่วนของ paper prototype นั้น ส่วนตัวคิดว่า ถ้าจะใช้ภายในกลุ่มทีมงานก็ทำได้ แต่มักไม่ค่อยเวิร์คกับลูกค้ามากนัก)

 

ความน่ารักที่ 5 : Cannot give final approval or is not putting you in touch with the decision-makers

ลูกค้าแบบนี้มักเกิดในองค์กรใหญ่ที่เราเข้าไม่ถึงผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ พนักงานระดับล่างถึง senior ทำงานกันเอง แต่เบื้องบนไม่ได้ให้อำนาจการตัดสินใจกับคนทำงานมาด้วย ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้เข้าฟังหรือรับรู้ เห็นเพียงแต่ผลลัพธ์แล้วตัดสินลงมาอีกทีหลังจากที่คนทำงานเอางานใส่พานถวายขึ้นไปแล้ว ซึ่ง เป็นลูกค้าอีกแบบหนึ่งที่ทำงานด้วยโคตรยาก เพราะคนฟังไม่ได้ฟันธง คนฟันธงไม่ได้ฟัง ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนซ้ำซากเป็นอย่างมาก หรืออยู่ ๆ อาจจะเกิด requirement ใหม่เพิ่มโดยเจรจาได้ยากเพราะคนทำงานก็ได้แต่รับคำสั่งมาบอกว่าเป็นความต้องการจากเบื้องบน ส่วนเบื้องบนก็ไม่มาเจรจากับเรา ไม่ได้มารับรู้ไทม์ไลน์กับเรา

วิธีรับมือกับลูกค้าแบบนี้ คือพับปณิธานการทำแอพให้คนใช้งานได้ดีเข้าหีบไป ทำตามใจคนฟันธงไปแหละ เธอจะไปคุยกับเซารอนได้ยังไงในเมื่อเธอไม่ได้เป็นคนถือแหวน แต่เพื่อต้องการป้องกัน requirement หรืออะไรที่กระทบกับไทม์ไลน์และ Budget ก่อนเริ่มงานควรมีเอกสารไทม์ไลน์และงบประมาณที่ Signed Off เรียบร้อยแล้วให้อุ่นใจ

 

ความน่ารักที่ 6 : Doesn’t have time to fill out the survey

ลูกค้าแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นลูกค้าที่แย่เสมอไป แต่อาจจะไม่มีเวลาเจียดมาทำเอกสารให้เราจริง ๆ ก็ได้ คล้ายคลึงกับความน่ารักที่ 2 ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่วงเวลา survey & research อะไรนัก แต่ความน่ากลัวที่มากกว่าก็คือ แม้แต่ survey ที่เกี่ยวกับเรื่องตัวเอง ลูกค้าน่ารักแบบที่ 6 นี่ก็อาจจะยังไม่ทำเลย

ความซวยก็คือ พอเก็บ requirement ได้ไม่ครบ การนั่งเทียนก็บังเกิด เมื่อการนั่งเทียนผิดพลาดไปจากความเป็นจริง ลูกค้าที่ไม่มีเวลาทำ survey เหล่านี้จะมีเวลามาวิจารณ์งานทันทีว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นจริงอยู่

แต่ถ้าหากลูกค้ายังมีเวลาให้สัมภาษณ์และให้ observe อยู่ ก็จะถือว่า ความซวยนี้ไม่ร้ายแรงมากนัก อย่าลืมว่า การได้ข้อมูลจากลูกค้า ไม่ได้มาจากการกรอกแบบสอบถามอย่างเดียว เรายังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้เราได้ข้อมูลมา ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การดูเอกสารที่มีอยู่ การดูคู่แข่ง หรือแม้แต่การไปฟ้องเจ้านายของลูกค้า (กรุณาทำด้วยความเสี่ยงของท่านเอง) ส่วนใหญ่ลูกค้าที่เป็นคนจ่ายเงินเขาไม่ค่อยขี้เกียจเกินไปจนมันทำให้สิ่งที่เขาต้องจ่ายไปสูญเปล่าหรอก

 

ความน่ารักที่ 7 : Small budget, swift deadline

ลูกค้าแบบนี้คือลูกค้าที่คิดว่าเว็บอาลีบาบาสร้างขึ้นได้ด้วยเงินไม่เกินสามหมื่นบาท เอาจริง ๆ เราไม่ค่อยจะตกอยู่ในสถานการณ์นี้เท่าไหร่หรอก เพราะพอรู้งบและสโคปปั๊บก็ปฏิเสธงานกันแล้วนอกจากจะร้อนเงิน ลูกกำลังจะเปิดเทอม คนที่บ้านอยากได้กุชชี่ หรือกำลังจะจมดอกเบี้ยที่กู้มาในอัตราที่สูงลิ่ว

อันดับแรกที่ต้องเข้าใจคือ ลูกค้าจำนวนมากไม่ได้อยู่ในวงการ เขาไม่รู้หรอกว่าการทำเว็บ ๆ หนึ่งต้องใช้เงินเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น หลาย ๆ คนเขาไม่ได้งก เขาแค่ไม่รู้ ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนรู้ แต่งกจริง ๆ

สมมติถ้าตกร่องปล่องชิ้นกันจริง ๆ แล้วล่ะก็ ถ้าไม่คิดว่าทำการกุศล ก็ต้อง reality check กันตั้งแต่ต้น เคลียร์สโคปกันให้ได้ตั้งแต่ต้น และ Sign off เป็นลายลักษณ์อักษรให้ได้ ถ้าเคลียร์ไม่ได้ตั้งแต่ต้น ก็ขอให้โกยเถอะโยม เพราะมันจะไม่ใช่ศูนย์แต่จะขาดทุนเอา ดีไม่ดีก็ขาดทุนเป็นอย่างมาก

อย่าไปเชื่อลูกค้า ทุก ๆ ครั้งที่ลูกค้าบอกว่า โปรเจคตัวเองไม่มีอะไรมาก

 

ความน่ารักที่ 8 : Unresponsive, cannot make decisions, does not email or call back in a  timely manner

ลูกค้าแบบนี้มักจะเกิดในองค์กรใหญ่ที่โปรเจคเกิดโดยผู้บริหารระดับสูง แต่เข้าร่วมงานด้วยพนักงานระดับ operation หรือ senior จำนวนมาก ซึ่งแตกต่างกับความน่ารักที่ 5 ในแง่ที่ว่า ความน่ารักที่ 8 นั้น เราอาจจะเจอกับผู้บริหารที่กระตือรือร้นในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ คนนั้นได้บ้าง

ปัญหาจะเกิดเมื่อไม่ได้มีการกำหนดคนที่รับผิดชอบในส่วนต่าง ๆ เอาไว้ หลาย ๆ ประเด็นมันจะตกอยู่ที่ฉนวนกาซ่าที่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้กันแน่ แม่จ๋าอันนี้ตอบว่าอะไร

วิธีการรับมือคือ เล็งเอาไว้ว่าถ้าโปรเจคล่าช้าใครจะเป็นคนที่มีตำแหน่งที่สูงที่สุดที่จะเดือดร้อนที่สุดในองค์กร พร้อมกับพยายามให้ลูกค้ากำหนดคนรับผิดชอบในส่วนต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงคนที่ทีมงานจะเอาไว้ถามทุกเรื่องที่ไม่รู้จะเอาไปลงกับใคร เราอาจจะต้องถึงเนื้อถึงตัวบางคนหากอีเมลหรือการโทรศัพท์เป็นสิ่งที่กั้นกลางระหว่างเราเอาไว้ รวมไปถึงการแสดงไทม์ไลน์ให้ผู้เกี่ยวข้องดูเป็นระยะว่า หากไม่ได้คำตอบในเรื่องนั้นนี้ภายในวันนั้นวันนี้ งานนี้จะเน่าเบอร์ไหน ถามใจเธอดู

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องคอยระวังความล่าช้าที่จะลามไปถึงเรื่องของ Budget ในส่วนต่าง ๆ ด้วย ซึ่งควรจะชัดเจนในส่วนของ Proposal ที่ลูกค้า Sign Off เรียบร้อยแล้ว

 

ความน่ารักที่ 9 : Indecisive, changes mind frequently, unable to articulate feedback

ลูกค้าแบบนี้มักจะเกิดจากลูกค้ารายย่อยที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร นึกภาพในหัวไม่ออก มโนไม่แจ่มหรือแจ่มเกินไป กลับมากลับมาได้ตลอดเวลา นอกจากจะทำให้กระทบเรื่อง Timeline ในการพัฒนาแล้ว บางทีอาจจะกระทบถึงโครงสร้างหลักกันเลยทีเดียว Navigation ทำมาดี ๆ อยู่ ๆ เอาอะไรเพิ่มเข้ามาไม่รู้ จากที่เรียบง่าย ก็กลายเป็นรุงรัง และมักชอบใช้วิธีการโทรศัพท์แทนการอีเมลและอื่น ๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ลูกค้าแบบนี้จำเป็นต้องมี PM (project manager) ที่แข็งแรง ไม่ทำตัวเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร ลูกค้าว่าไงก็เอามายัดให้ทีมเดฟหมด แบบนี้ จะรวนกันภายในทีมด้วย

การตั้ง Goal และ Objective พร้อม Sign Off ในส่วนนี้ เป็นสิ่งสำคัญ (มว้าก) เช่นเดียวกับ Proposal ที่ Sign Off ไปแล้ว (หวังว่า) ในขณะที่เราโอนอ่อนผ่อนตามความลังเลของลูกค้าได้ด้วยน้ำใจคนไทยที่หยวนหยวนกัน เราก็ยังมีเอกสารชี้ให้ลูกค้าดูว่า นั่นแน่ กลับไปกลับมาอีกละน้าตะเอง ด้วย และพยายามเก็บคำพูดของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นอกจากนั้นการทำ Versioning ก็สำคัญ เพราะวันดีคืนดี ลูกค้าอาจจะอยากย้อนกลับไปที่การตัดสินใจหมายเลข 1 ในขณะที่ตัดสินใจเรื่องเดียวกันนี้ไปแล้ว 26 หมายเลข เราจะได้ไม่ต้องกลับมาทำใหม่อีกรอบ และพยายาม document การคุยงานทุกอย่างให้เป็นหลักฐาน เพราะลูกค้าแบบนี้มักขี้ลืมว่าเคยคิดอะไรตัดสินใจอะไรออกมา

 

ความน่ารักที่ 10 : Wants to handle the creative and/or production aspects to “save money”

ลูกค้าประเภทนี้ ดูท่าเมืองไทยไม่ค่อยจะมีนะ มีแต่จะมีให้ทำเพิ่มให้ในราคาเท่าเดิม แต่เมื่อไหร่ที่เจอ ความปวดหัวก็คือ งานที่ลูกค้าพยายามจะลดงบประมาณโดยการเอาไปทำเองหรือเอาไปให้คนอื่นทำน่ะ มันไม่ค่อยจะถึงมาตรฐานที่ควรจะเป็นเท่าไหร่ เช่น การส่งรูปมาในรูปแบบ doc file , content ที่หลุดคอนเซปท์ออกไปอีกโลกนึงเลยเพราะไม่ได้มาอยู่ภายใต้ Style Guide เดียวกัน ต้องการจะจัดการ content เองโดยที่ไม่ได้จัดการให้เป็นระบบระเบียบที่เอื้อกับการนำไปให้ทีมพัฒนาใช้อย่างสะดวก

ถึงแม้ว่าบางอย่างจะสอนและแนะนำลูกค้าให้ทำให้เข้าที่เข้าทางได้ แต่นั่นก็หมายถึงว่า เราต้องใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งเพื่อไปสอนอยู่ดี ซึ่งมักไม่ได้มีการคิดเงินเพิ่ม และไม่ได้ยืดไทม์ไลน์ให้ยาวขึ้นแต่อย่างใด

ส่วนใหญ่เราจะรู้ปัญหานี้ก่อนเริ่มทำงาน เพราะต้องตกลง Budget กันก่อน จึงนับว่าไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่โตอะไรนัก เพียงแต่ต้องเคลียร์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และตกลงไทม์ไลน์ที่จะต้องทำและ Sign off เป็นเรื่องเป็นราว เพราะถ้าล่าช้าเพราะลูกค้าส่งงานช้าเองขึ้นมา เราจะได้ไม่ซวย

 

นอกจากนี้ก็ยังมีความน่ารักอีกหลาย ๆ ประการที่เจอกัน (ส่วนการจ่ายเลทเบี้ยวจ่ายเราจะไม่สามารถนับเป็นความน่ารักได้) จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่การรับมือจะเกี่ยวข้องกับเอกสารล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่ต้อง Sign off ตกลงกันเรื่อง Goal, Objective, Requirement เบื้องต้น, สโคปงานและสิ่งที่อยู่นอกสโคปงานที่อาจเกี่ยวข้อง การจัดเก็บเอกสารและ conversation ที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงการ versioning ที่อ้างอิง conversation เป็นส่วนที่ PM พึงกระทำเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นกับลูกค้า และทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าใจเนื้องานมากพอที่จะตี Timeline และ Budget ได้ใกล้เคียงความเป็นจริง

 

 

Multipotentiality มีความสตรองอย่างไรกับการเป็น Information Architect

สิบกว่าปีผ่านไป เราก็พบว่า ก็ยังมีหลาย ๆ ครั้งที่เราได้ยินคำถามว่า คนที่เป็น IA มีคุณสมบัติอะไรเป็นพิเศษบ้าง นอกจากจะเป็นตำแหน่งที่โต๊ะทำงานรกที่สุดในออฟฟิซตลอดกาล

ล่าสุด เรื่องของ Multipotentiality (การมีความสนใจหลายอย่าง ถ้าเป็นคนเขาเรียกว่า Multipotentialite) เริ่มจะเป็นที่ได้ยินมากขึ้นในสังคม ตาม ๆ ความเป็น Introvert กันมา ทำให้เรานึกขึ้นได้ว่า นี่แหละคือคุณสมบัติที่ชัดเจนอีกข้อหนึ่งในหลาย ๆ ข้อที่คนคิดจะเป็น IA ควรจะเป็น

‘โดยเฉพาะ IA ที่ไม่ได้เป็นเพียงคนรับบรีฟแล้วก็ทำตามบรีฟเท่านั้น’

การเป็น IA หรือ Information Architect นั้น (หรือ ในปัจจุบันหลาย ๆ ที่จะฮิตคำว่า UX มากกว่า ซึ่ง UX จะว่าไปก็เป็นคำ Umbrella ที่ครอบ IA และอื่น ๆ อีกทีนึง) โดยพื้นฐาน ไม่ได้ต่างกับนักออกแบบสายอื่น ข้อหนึ่งในหลายข้อนั้นก็คือ ความสามารถในการเข้าใจบริบทของลูกค้า ซึ่งบริบทลูกค้าแต่ละรายนั้น แตกต่างกันทั้งขั้นต้น และในขั้นตอนรายละเอียด เช่น ลูกค้าสองราย อาจจะมีบริบทในสายธนาคารกันทั้งคู่ แต่รายละเอียดของธุรกิจตนเองในบริบทวงการธนาคารนั้น แน่นอนว่า ไม่เหมือนกัน

เราไม่มีทางรู้จักเรื่องของลูกค้าไปได้ดีกว่าตัวลูกค้าเอง แต่เราต้องมีความเข้าใจที่”มากพอ”ที่จะออกแบบสร้างสิ่งที่เรื่องของเขานั้นสามารถสวมใส่เข้าไปได้ และควรจะสวมใส่ได้อย่างสบายดีด้วย

การที่เป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย อะไรก็สนใจจะรู้ไปเกือบหมด ทำให้”ฉันทะ”ในการจะทำความเข้าใจอะไรบางอย่างใหม่นั้นมีสูง มีการเชื่อมโยงที่เหมาะสมและเป็นเหตุเป็นผลทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เข้าใจเรื่องราวใหม่ๆของธุรกิจลูกค้าได้เร็วขึ้น ถามคำถามตรงจุด และเก็บ requirement ได้กระชับขึ้น

ตรงกันข้ามกับคนที่สนใจอะไรเป็นอย่าง ๆ ไป ที่จุดแข็งแรงอยู่ที่สิ่งที่สนใจเป็นหลัก แต่นั่นก็ทำให้ “ฉันทะ” และ “วิริยะ” อาจจะน้อยตามในการพยายามทำความเข้าใจอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ได้มีความสนใจเป็นที่ตั้ง

ความสนใจที่หลากหลาย ทำให้เรียนรู้ “ศัพท์ในวงการ” ได้หลายวงการ แม้ว่าจะไม่มีวันคล่องเหมือนคนที่เขาทำงานอยู่ตรงนั้นทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ก็จะทำให้เรา blend in กับฝ่ายลูกค้าได้ ลูกค้ามักจะมีความเชื่อถือเรามากขึ้นเพราะเราแสดงความเข้าใจเขา  แล้วถ้าบังเอิญเป็นธุรกิจที่เราเคยมีประสบการณ์มาบ้าง เราก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับโปรเจคมากเป็นทวีคูณ เพราะนอกจากเราจะทำตามโจทย์ได้แล้ว เรายังสามารถเห็นช่องทางสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้กับการพัฒนาโปรเจคได้อีกด้วย

การสนใจ “บริบท” ของโปรเจค จึงเป็นสิ่งที่ “ควรมี” ของคนที่จะมาเป็น Information Architect แต่ก็ไม่ได้แปลว่า จะต้องเป็นคนที่ไม่มีเรื่องที่ไม่สนใจเลย เราอาจจะเจอโปรเจคที่มีบริบทที่เราไม่เคยสนใจมาก่อน หรือไม่คิดว่าจะอินเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นคนที่มีพื้นฐานความสนใจหลากหลายอยู่แล้ว การสร้างฉันทะในเรื่องที่ไม่อิน (แต่เป็นงาน) ก็ไม่ยากจนเกินไป

 

ด้วยเกียรติของ Product Manager

S__9289795

(ภาพประกอบใช้เพื่อสร้างบรรยากาศ)

ประสบการณ์ที่เคยผ่านงานประจำมา มีหลาย ๆ ครั้งที่เราก็ยังนึกถึงและนำมาใช้เตือนตนอยู่จนทุกวันนี้

มีอันหนึ่งที่จำได้เป็นพิเศษ เมื่อตอนไปขอทำงานเป็น Product Manager ที่บริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อจะเข้าใจการทำงานว่าคนเป็น “ผู้จัดการ” นั้นต้องทำอะไร มีทักษะอย่างไร และได้เปิดประสบการณ์ด้านการทำงานร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมและลูกค้าต่างชาติด้วย

เจ้านายที่นี่เป็นเจ้านายที่สอนลูกน้องอยู่เสมอ ตัวเราอาจจะไม่มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับบอสใหญ่ ๆ ในบริษัทท็อปเทนของประเทศ แต่เราก็เชื่อว่า เจ้านายคนนี้ก็สอนลูกน้องได้เข้าท่าไม่แพ้ใคร และเราก็ว่าเราโชคดีที่เคยได้ทำงานกับแก

แกสอนว่า “Product Manager ไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร”
.
.

ในเวลาที่เราเป็นผู้จัดการ แปลว่า เรามักจะอยู่ระหว่างคนอย่างน้อยสองคน นั่นก็คือ เราเป็นคนกลาง

ชีวิตนี้เราพบเจอผู้จัดการที่ทำตัวเป็นเครื่องถ่ายเอกสารอยู่มากมาย ด้วยความที่เป็นคนกลางที่อำนาจการทำอะไรจริง ๆ แล้วไม่ได้มีอยู่กับมือมากนัก ทำให้ผู้จัดการกลายร่างเป็นเครื่องถ่ายเอกสารได้ง่าย ๆ ลูกค้าว่าไงมา ก็ copy & paste ให้ supplier ไปตามนั้น Supplier ว่าไงมา ก็ copy & paste ให้ลูกค้าไปตามนั้น

ทั้ง ๆ ที่หน้าที่ PM เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่จะทำให้โปรเจคมันเดินไปได้อย่างเรียบร้อยที่สุด โดยมีหัวข้อหลัก ๆ เท่าที่นึกออกตอนนี้ประมาณนี้

– ทำตัวเป็น Buffer ฉนวนกาซ่า ลดความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายสามฝ่ายอะไรก็ว่าไป

– ทำตัวเป็นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร จัดการกับข้อมูล เอา Data มาแปลงเป็น Info เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น

– ทำตัวเป็นห้องสมุด ใครไหนอยากจะอ้างอิงอะไร เราต้องมี และเราต้องคิดได้ด้วยว่า อะไรควรมี ก็ไปทำให้มี

– ทำตัวเป็นปฏิทิน รักษาเวลาของทุกฝ่าย แต่ไม่ใช่สักแต่ว่า “บี้คนข้างล่าง” แต่ต้องสามารถ “ตัดคนข้างบน” ได้ด้วย

– ทำตัวเป็นเป็ด เข้าใจบริบทของทุกฝ่าย มีความรู้มากพอในงาน ไม่งั้นจะจัดการไม่ถูกจุด กลายเป็นคนที่ทำให้งานยิ่งช้า แล้วทุกคนจะเหม็นเปรี้ยว

– ทำตัวเป็นคลับฟรายเดย์ เป็นที่ปรึกษาของทุกฝ่ายได้ เป็นเพื่อนคุยยามเพื่อนว้าเหว่

– ทำตัวเป็นนักการเมืองที่พยายามให้ทุกคนชอบ การที่ PM โดนฝ่ายไหนเหม็นเปรี้ยวคือความซวยในการทำงาน +1 level

– ทำตัวเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว แม้ว่าเธอไม่เคยเป็นอะไรกับฉันเลย

เท่าที่ทำมา เราว่า PM อาจจะฟังดูเป็นตำแหน่งที่เก๋ ดูมีอำนาจ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ตำแหน่งงานที่ง่าย เงินเอยก็ไม่ใช่ของเรา อำนาจเอยกำลังการผลิตเองเอยแม่งก็ไม่มี แต่ต้องจัดการให้ได้อะ เอ้อ เก่งปะล่ะ

PM หลายท่านก็เลยมีจุดจบเป็นเครื่องถ่ายเอกสารไปวัน ๆ ให้บ่าววีมอบมงเป็นขอนไม้ประจำโปรเจค แล้วมองดู Supplier กับลูกค้าฟาดฟันกันฝุ่นตลบกันไป

แม้ในความเป็นจริง หลาย ๆ คนในสังคมยินดีเป็นสารแขวนลอย เพียงเพราะต้องการเงินเดือน เราก็ยังรู้สึกว่า คนเราควรรู้สึกถึงคุณค่าของการทำงาน เพราะการทำงานมันกินเวลาชีวิตเราไปไม่ต่ำกว่าครึ่งค่อนชีวิต

มันไม่ได้แปลว่าต้องลาออกไปหาฝันว่าตัวเองอยากทำอะไรในชีวิตนี้ แต่มันแปลว่าเวลาครึ่งค่อนชีวิตที่ใช้ไปกับการทำงานหาเงินน่ะ มันยังเป็นชีวิตที่ meaningful ได้ มี ethics ในการทำงานได้ คุณไม่ต้องใช้เวลา 8-12 ชั่วโมงต่อวันในการทำงานส่ง ๆ ไปวัน ๆ โดยตัวคุณเองและคนรอบข้างไม่ได้ประโยชน์เห็บเหาอะไรเลย

ไม่ว่าโลกข้างนอกจะปาอะไรห่วย ๆ ใส่หน้าคุณ แต่งานของคุณเป็นการกระทำของคุณ คุณทำมันได้ด้วยกุศลจิต ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา โดยที่ไม่มีใครบังคับคุณให้ไม่มีได้

มีตาหาเจอส่วนลดไม่ Task blindness

นาน ๆ ทีจะมีวันหยุด ซึ่งก็ไม่นึกว่าจะมีเรื่องราวให้มาเขียนบล็อก iamia จนได้ ต้องยกประโยชน์ให้กับความเสียดายส่วนลดที่เราคว้าไว้ไม่ได้ ที่ทำให้เกิดบล็อกนี้ขึ้นมา

การที่มีวันหยุดประมาณ 1 วัน 1  คืนแต่ที่ที่อยากไปมีอยู่ห้าล้านที่ และเริ่มมีความรู้สึกว่า สิ่งที่อยู่ใน agoda และ pantip หลัง ๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ (ซึ่งสองเว็บนี้ก็ไม่ได้มีความผิดอะไรแต่ประการใด เป็นที่รสนิยมเราเอง) ทำให้ต้องใช้เวลาค้นหาและตัดสินใจอยู่นานเลยเหมือนกัน

ในที่สุดก็ได้ลงเอยว่า จะพักที่นี่ล่ะวะ Sala Ayutthaya อยากไปมานานแล้ว ด้วยความที่เป็นผลงานการออกแบบของเพื่อน (บริษัท Onion ฮะ ไปเสิร์ชกันได้ เก่งจริงจัง) และมันก็ดูถูกจริตเราดีด้วย ที่สำคัญ ไม่ไกลจากกรุงเทพอย่างแท้จริง (ใครบอกหัวหินสัตหีบระยองไม่ไกลนี่แบบว่าเถียงหัวชนฝา) นาน ๆ ทีได้พัก ขอสักหน่อยเถิด

ปรกติแล้ว เวลาเราจะจองโรงแรม เรามักจะนิยมจองกับเว็บโรงแรมโดยตรง ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือ โรงแรมจะได้รายได้ไปเน้น ๆ และจริง ๆ ราคาก็ไม่ต่างกับ Agoda จนน่าลังเล หรือบางที่ที่เราชอบก็ไม่มีใน Agoda

scrsht-sala-01

เราชอบดูเว็บโรงแรมนะ เว็บโรงแรมเป็นอะไรที่แสดงแบรนดิ้งตัวเองได้เป็นอย่างมาก แสดง emotion ได้เต็มที่ เพราะการเลือกพักโรงแรมเพื่อการพักผ่อน user ก็เลือกด้วยอารมณ์อยู่แล้ว ต่อให้มีงบจำกัดก็ยังเลือกด้วยอารมณ์ในตัวเลือกเท่าที่เป็นไปได้อยู่ดี

โรงแรมในเครือ Sala มีหลายแห่ง เว็บก็คุมตีมได้ดี ทุกแห่งมี UI ครอบเหมือน ๆ กัน กรณีนี้ เราเลือกมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะพักที่ Sala Ayutthaya พอเข้ามา ดูห้องแป๊บนึง เราก็กด Book Now แล้ว layer ให้เลือกวันและจำนวนคนก็โผล่ออกมา แล้วก็ให้กดปุ่ม Book Now อีกที

ก็งงกันไป ปุ่มแรก จองเดี๋ยวนี้ โอเค จองเดี๋ยวนี้
อะ ต้องเลือกวันก่อน จำนวนคนก่อน แล้วก็…จองเดี๋ยวนี้! โอเค จองเดี๋ยวนี้ !

ก็ยังไม่ได้รับจองเดี๋ยวนี้! อยู่ดี เราถูกเว็บส่งไปที่ third party ที่ทำระบบจองโรงแรมโดยเฉพาะ อันมีนามว่า Thebookingbutton.com.au

scrsht-sala-02

ความเดิมตอนที่แล้ว คือเราเลือกวัน และจำนวนคนแล้ว มันก็พามาที่หน้านี้เพื่อเลือกห้องพักตามปกติ และแน่นอน เราก็ไล่ดูราคาด้วยว่า วันที่เราเลือก เทียบกับวันใกล้ ๆ กัน มีความแตกต่างมากน้อยอย่างไร เมื่อตัดสินใจแล้ว เราก็เลือกกด Book ตรงห้องพักที่เลือก

จากนั้นเราก็ได้เริ่มจองห้องพักจริง ๆ จัง ๆ ซะทีแล้วสินะ (อะไรคือ Book Now นี่ปาเข้าไปขั้นตอนที่สามแล้วจาก Book Now ปุ่มแรก คือเข้าใจนะว่าเว็บมันจะกระตุ้นให้คนกดจอง แต่ก็ตลกดีว่า Now อะไรยืดเยื้อเบอร์นี้)

หน้านี้จะเป็นหน้าที่กรอกรายละเอียดทั้งหมด ตั้งแต่ step 1 เป็นต้นไป โอเค วันนี้เรทนี้แหละ ไม่ผิด

พอเริ่มลงตัวแล้วว่า โอเค ห้องพักมี เรทที่ตั้งไว้รับได้ user ก็จะเริ่มคิดถึงการจ่ายเงิน

พอคิดถึงเรื่องการจ่ายเงิน ก็ เอ… แล้วมีช่วงนี้มีส่วนลดอะไรไหมนะ พลันสายตาก็ขึ้นไปมองที่แบนเนอร์ด้านบน อ๋อ เขาพูดถึงการจองห้องพักโดยตรงกับโรงแรม นี่ไงเราก็จองตรงกับโรงแรมละ ละไงนิ

อ้อ… ต้องใส่รหัส bookdirect เพื่อส่วนลด 10% ด้วยเหรอ

ถึงจะงง ๆ ว่าก็นี่ไง จองตรงกับโรงแรมแล้วยังต้องให้ใส่รหัสอีกด้วยเหรอ ทำไมไม่ลด ๆ ไปเลยให้มันหมดเรื่องหมดราว

จริง ๆ คือเข้าใจว่า ด้วยความที่ทางโรงแรมใช้ระบบจองโรงแรมกับเว็บนอก ก็เลยอาจจะใส่โค้ดอัตโนมัติไม่ได้ หรือเปล่านะ

ยังไงก็ไม่รู้ ก็หยวน ๆ โอเค ๆ ใส่รหัสก็ได้

แต่…

scrsht-sala-03

ช่องใส่รหัสมันอยู่ตรงไหนฟะ ไถหน้าเว็บขึ้นลงห้าหกรอบ ก็ไม่เจอช่องใส่รหัส

เอาไงดี 10% มันก็หลายร้อยบาทนะเฟ้ยยยย

หลังจากไถเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ก็เลยคิดในแง่ดี๊ดีว่า อืม นี่ระบบข้างนอก อาจจะมี user access มาจากเว็บอื่นมาลงเว็บนี้ ก็เลยต้องใส่รหัสต่างหาก แต่นี่เรามาจากเว็บโรงแรม มันก็ส่งค่าวันจำนวนคนได้นี่หว่า มันก็อาจจะพาสรหัสมาให้ได้ล่ะมั้ง นี่ห้องพักห้องละหลายพันนะ เว็บคงไม่โง่ (ตรรกะอะไรฟะ) เดี๋ยวจ่ายไปก่อนค่อยว่ากัน

scrsht-sala-04

สรุปว่า ชวดส่วนลดจ้าาาาา ล้องห้าย

แล้วช่องใส่รหัสส่วนลดมันอยู่ตรงไหน ?

scrsht-sala-05

อ๋อ มันอยู่ตรงหน้าก่อนที่เราจะกดเลือกห้องพักต่างหาก

ซึ่ง…มันไม่ supposed ที่จะอยู่ตรงนั้นงัยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย

โทรคุยกับน้องที่ฟรอนท์(มั้ง) ก่อนหน้าที่เราจะรู้ว่าช่องใส่รหัสมันอยู่ตรงนั้น น้องเขาก็คงทำอะไรไม่ได้ก็ต้องยืนยันมาว่ามันมีช่องให้ใส่รหัสจริง ๆและคุณพี่ก็ไม่ใส่เอง ส่วนเราก็ไม่รู้ว่าจะเถียงว่าเรามองไม่เห็นทำไม และไม่รู้จะเล็กเชอร์เรื่อง UX/UI ให้น้องเขาฟังทำไม ก็เลยต้องยอมรับความชวดนี้ไป

ปรกติการซื้อของทางออนไลน์ การใส่รหัสส่วนลด มักจะเป็น task ย่อยที่ปรากฏให้ทำเมื่อตอน task ใหญ่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงิน ซึ่งเมคเซนส์ และก็เป็นที่ทำกันเป็นมาตรฐานปกติ

ถ้าดู screen ที่แคปมา อาจจะมองเห็นได้ง่ายว่าอ้าว นั่นไงก็อยู่ตรงนั้น คนเขียนนี่ตาถั่ว แต่เมื่อดูเต็ม screen และ user กำลัง occupied กับ task ที่ต้องเลือกห้องพักและราคา ทำให้ส่วนที่เราวงสีเหลืองไว้นั่น กลายเป็นจุดบอด มองไม่เห็นไปง่าย ๆ อีกทั้งอยู่ทางด้านขวามือเหนือตารางที่เป็น main task ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ ฮวยจุ้ยค่อนข้างแย่ ปกติสายตาไม่ได้ focus ตรงนั้นโดยธรรมชาติอยู่แล้วด้วย

เราเรียกมันว่า Blindness ซึ่ง Blindness หรือการมองไม่เห็นบางสิ่งบางอย่างในเว็บหรือแอพทั้งที่มันอยู่ยืนหัวโด่อยู่ตรงนั้นนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากการชินกับการรับรู้ว่ามันคือสิ่งไม่น่าสนใจ หรือมันไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ หรือมันไม่อยู่เลย

เวลาเราวางเลย์เอาท์หน้าจอ ทุกอย่างจะมีความสำคัญเท่ากันหมดสำหรับคนออกแบบและคนสร้าง แต่สำหรับ user   จะมี focus ของเขาและมีการแสกนหน้าจอซึ่งอาจจะมองผ่านในสิ่งที่เป็นสิทธิประโยชน์ของตัวเองก็ได้

หน้าเว็บนี้ เหมือนออกแบบด้วย mental model ว่า คนต้องอ่านแบนเนอร์ก่อนเพราะแบนเนอร์อยู่บนสุด แล้วก็ต้องติดใจเรื่องส่วนลดมาก ก็จะหาทางพยายามใส่ส่วนลดก่อนสิ่งอื่นใด เรื่องห้องพักเรื่องวันเวลาพักราคาพักค่อยว่ากัน ขอให้ได้ส่วนลดก่อนเป็นหลัก

แต่ถ้าออกแบบด้วยการคิดลำดับ use case/scenario และคำนึงว่า ณ จุดนั้น ๆ user จะถูก occupied ด้วยอะไร user ยังอยู่ในกระบวนขั้นตอนการจองห้องพัก เมื่อเปลี่ยนหน้าแล้ว user ก็จะสแกนหน้าเพื่อดูว่าตรงไหนเกี่ยวกับการจองหรือเลือกห้องโดยละทิ้งสิ่งอื่นไปก่อน เพื่อทำ task ที่สำคัญสุดให้เสร็จก่อน (และเพื่อจะพบว่า ชวดส่วนลดไปแล้ว บาย)

ฉะนั้น อีนังช่องใส่รหัสส่วนลดจะไม่อยู่ตรงนั้นเด็ดขาด หรือถ้าอยู่ ก็ต้องอยู่ในหน้าที่เป็นหน้าจองห้องพักจริง ๆ ด้วยในตำแหน่งเดียวกันก็ยังดี เพราะถึงจุดนั้น user จะเริ่มควานหาราคาสุดท้ายที่ต้องจ่ายจริงแล้ว อย่างที่เราทำ

แม้ว่าหน้าเว็บจะยัดอะไรลงไปได้เยอะกว่าบนมือถือ ก็ไม่ได้แปลว่า user จะทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ทุกสถานการณ์ การจองห้องพัก ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ user มัก focus ใน task ใด task หนึ่ง ไม่เหมือนการอ่านบล็อก อ่านข่าว หรือใช้เฟซบุค หรือแม้ user จะจองห้องพักสลับกับอ่านเฟซบุคและตอบไลน์ ณ หน้าเว็บที่ทำการจองห้องพักนั้น user ก็จะให้ focus แค่เรื่อง ๆ เดียว

การใช้ระบบของ Third Party มีข้อดีอย่างมากมาย แต่ข้อเสียที่เห็นชัด ๆ ในวันนี้ก็คือ ถ้า experience ที่ส่งต่อให้ third party มันไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นเรื่องเดียวกับยานแม่ อารมณ์ความรู้สึกก็จะสะดุดไปด้วย โดยเฉพาะยานแม่ที่มีธุรกิจดีลกับเรื่องอารมณ์ ภาพลักษณ์ lifestyle มาก ๆ

แต่ถ้าเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่ต้องการโปรโมทส่วนลด แต่ไม่อยากคนมาใช้ส่วนลดมากนัก ลองมุกนี้ดูก็ได้

ป.ล. โรงแรมพักสบาย สะอาด เตียงนุ่ม มีที่ฉีดตูด โอเคมาก

 

 

Google is watching you

ท่ามกลาง ui ที่งงงวยในบางคราว กูเกิลก็มีฟีเจอร์อะไรให้เราประหลาดใจเสมอ

วันก่อนที่ไปแวบอยุธยา พอเปิดกูเกิลแมพ มันก็รู้ดี ปักหมุดโรงแรมที่จองไว้ให้เลย ตอนแรกก็นึกว่าคงเป็นเพราะเราเคย search ในแมพ มันเลยจำเอาไว้ แต่เอ๊ะ มันขึ้นวันเช็คอินเช็คเอาท์ด้วยนี่นา (คนอื่นอาจจะใช้ฟีเจอร์นี้นานแล้วก็ได้)

ก็เลยสันนิษฐานว่ามันอ่านจากอีเมล์ยืนยันการจองห้องที่ทางเว็บจองส่งมา ซึ่งจะว่าเจ๋งมันก็เจ๋งดี ยอมรับว่าสะดวก แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่า กูเกิลมันต้องรู้อะไรเกี่ยวกับเราขนาดนี้เลยเหรอวะเนี่ย

เอาน่า ถือว่าเป็นการซ้อม…

#iamia #ux #userexperience #googlemap 

15589609_10154672609896278_9175131111620548467_n

เมื่อ UI ไม่สื่อสารภาษาคน

เมื่อเซเลบเน็ตไอดอลอย่าง @iannnnn มีประเด็นกับ ui เราจึงต้องจารึกเอาไว้ให้เป็นเกียรติกับบล็อกแห่งนี้

screen-shot-2559-11-14-at-5-17-29-pm

ระบบนี้ผิดที่อะไร เราไม่คิดว่าผิดที่โปรแกรมเมอร์ เพราะโปรแกรมเมอร์มีหน้าที่ทำสิ่งที่ออกแบบไว้ออกมา แต่ผิดที่ ระบบนี้ขาดแคลนผู้ที่จะมาตรวจสอบภาษาคนให้คนอ่าน ไม่ว่าจะเป็นคนในทีมด้วยกันเองที่มีทักษะหรือความสนใจทาง ux ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร หรือจะเป็น user ที่ใช้งานจริงที่ไม่ได้มีโอกาสใช้งาน

การทำระบบให้ออกมาใช้งานได้ กับการทำระบบให้ออกมาใช้งานได้ดี มันไม่เหมือนกัน

ลำพัง แค่ human error ก็ต้อง handle กันวุ่นวายอยู่แล้ว นี่ยังทำให้มันเป็นเรื่องยากในการใช้งานเข้าไปอีก ไม่ได้แปลว่าต้องมี ux professionals อยู่ในทีม แต่ต้อง make sure ว่าในทีมต้องมีคนที่มีทักษะหรือมีความสนใจว่า ถ้าเป็น user จะใช้งานอย่างไร

ยิ่งถ้าเป็นระบบที่เกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร ยิ่งมีความซีเรียส แต่ ui ระบบการเงินของประเทศไทย ก็อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่

แม้ในรายละเอียดเล็กน้อยแต่สำคัญโคตร ๆ อย่าง popup แบบนี้ ก็ทำให้ความเชื่อถือในระบบจ่ายเงินทั้งเว็บ ลดลงได้

ความน่าเชื่อถือลดลง คนก็ไม่จ่ายเงินให้ ยอดขายก็น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

มันไม่ใช่ “อีแค่ popup อันหนึ่ง” แต่มันเป็นสิ่งกำหนดหรือส่งเสริมชะตากรรมของธุรกิจของคุณ

อย่าให้สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้เป็นอุปสรรคเส้นผมบังตาเลย มันน่าเสียดาย

 

ทำไมข้าพเจ้าถึงได้คิดว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง

 

trumpcover

ใช่แล้ว ในนาทีนี้ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ออกมาแล้ว และเห็น ๆ กันอยู่ว่า ใครชนะ

หลาย ๆ คนตกตะลึง ไม่คิดจะเชื่อเลยว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่า กักขฬะแมน (แต่รวยสุดซากกระชากไตไม่ลืมหูลืมตา) จะได้เป็นประวัติศาสตร์บทใหม่ของผู้นำสหรัฐอเมริกา

หลาย ๆ คนสมน้ำหน้าที่ประเทศจอมเผือก (โดยภาพรวม) สุดท้ายก็ตายน้ำตื้น

ในฐานะที่เราเป็นหมอเดา ทายเงียบ ๆ ในใจว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในแต่ละครั้ง และในฐานะที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในประเทศและไม่เคยได้นายกที่ถูกใจ  ไล่ยันไปผู้ว่า สก สข ล้วนแต่ไม่ถูกใจ เรียกว่า ลิ้มชิมรสชาติแห่งความผิดหวังด้านการเลือกตั้งมามากมาย ก็ทำให้เราเห็นแนวโน้มและธรรมชาติในการลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนในประเทศตัวเอง และการลงคะแนนเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ประมาณหนึ่ง ก็ได้ความประมาณนี้

๑.

เอาจริง ๆ การวิเคราะห์การเลือกตั้งของประชาชน ไม่ค่อยจำเป็นต้องเอารายละเอียดมาตีทีละประเด็น เพราะน้อยคนนักที่จะเลือกใครหรือไม่เลือกใครด้วยความยิบย่อย แค่เหม็นหน้าก็ไม่เลือก แม้ว่านโยบายจะสวยหรูดูทะลุปรุโปร่งมาเป็นแฟ้มอย่างไรก็ตาม

อาจจะมีคนที่มีการศึกษามาก ๆ ปฏิบัติตนอย่างสมควรจะปฏิบัติในสังคมปัญญาชน ให้โอกาสด้วยการอ่านรายละเอียดทั้งหมด และแย้งไปเป็นประเด็นย่อย ๆๆ

แต่นั่นแหละ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินใจอย่างนั้น

๒.

รายละเอียดคือฟางเส้นที่อาจจะสุดท้าย สำหรับสิ่งที่กำลังง่อนแง่นหรือแบกแอ่นเต็มแก่ แบบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โป๊ะแตกทีพังคืน

แต่ไม่ใช่กับการตัดสินใจที่มีเวลาคิด

ขอให้มี overall concept ที่โดน หรือ keyword ที่ใช่ ผู้คนก็พร้อมจะไปด้วยหรือไม่เอาด้วย เช่น

“ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

พอมันโดน รายละเอียดค่อยว่ากัน เอาเป็นว่าขาลงไปข้างนึงแล้ว ฉะนั้น การตีโจทย์ว่าตัวเองเป็น target กลุ่มไหน แล้วกลุ่มนั้น ต้องการอะไร แล้วก็ big idea ตู้มเข้าไป เอาให้มัดใจมหาชน ถ้า big idea แป้ก รายละเอียดเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยช่วยนัก

๓.

เล่นการเมือง ต้องสุดโต่ง

ไม่ต้องทำให้คนชอบในตัวคุณ แต่ทำให้คนนั้นมีความหวังอะไรบางอย่าง อย่างโอบามา ฮีมาพร้อมกับจุดความหวังให้ประชาชน จึงได้รับเลือกถึงสองสมัย จนถึงตอนนี้ ถึงแม้จะมีอะไรที่โอบามาทำแล้วแย่ แต่ฮีก็ยังดูเป็นผู้ให้ความหวังได้อยู่ดี

สิ่งที่ทรัมป์ต้องการ ไม่ได้ต้องการให้คนมาชอบตัวตน แต่ต้องการให้คนมีความหวังที่คนอื่นให้ไม่ได้ ซึ่งตรงความกักขฬะแมนที่มี มันก็กลับส่งเสริมกับกลุ่มเป้าหมาย ทำนองว่า กักขฬะไม่สนลมสนฟ้าขนาดนี้ นโยบายก็คงไม่ต้องตามใจใคร ประกาศอยากทำอะไรก็คงจะทำไป คัยแคร์ ซึ่งผู้เลือกก็อยากให้ทำอยู่แล้วด้วย ก็น่าจะมีความหวังเพิ่มว่าจะไม่แป้ก

ซึ่ง เอาจริง ๆ เราก็ว่า ถ้าเกิดนางจะเปลี่ยนใจไม่อยากทำอะไรอย่างที่ประกาศ นางก็คงจะ คัยแคร์ เหมือนกัน

ตรงข้ามกับคลินตัน ที่เอาตรง ๆ ก็ไม่ได้ให้ความหวังอะไรใหม่ ๆ กับประชาชน เราเชื่อว่าคนที่เลือกแบบ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ก็น่าจะมีเป็นจำนวนมาก ในเมื่อกลุ่มเลือกทรัมป์ไม่ได้เห็นประโยชน์ชัดเจนที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ตนจากคลินตัน แล้วทำไมต้องเลือกคลินตัน

๔.

การโจมตีทรัมป์ในเรื่องตัวตน จึงไม่ได้กระทบนางเท่าไหร่ ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนทั้งหลาย แม้ว่าจะเป็นทั้งสื่อใหญ่ ดาราดังคับโลก ก็ตาม ก็เห็นจะมีอิทธิพลไม่มากนักกับการที่จะทำให้คนเลิกเลือกทรัมป์

เพราะสาระในการเลือกทรัมป์ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แม้ว่า โอเค ดูจะมีจุดเชื่อมโยงในมุมมองของฝ่ายต้านว่า กักขฬะขนาดนี้ ถ้าบริหารประเทศขึ้นมาจะขนาดไหน

และครั้งนี้เรากลับมองว่า ฝ่าย conservative กลับเป็นฝ่ายที่ต้องการอะไรใหม่ ๆ บ้าง ไม่ใช่กลับไปที่เดิมด้วยนะ เพราะอย่างทรัมป์นี่เอาจริง ๆ เรียกว่าเปิดศักราชหมวดหมู่ใหม่ของประธานาธิบดีในโลกนี้ได้เลย คือใหม่มาก มากจนเรานึกภาพได้เพียงเลือนลางว่านางจะพาประเทศนางไปแบบไหน

เพียงแต่การสนับสนุนให้ทหารบริหารประเทศอย่างบ้านเรา เราไม่ถือว่าเป็นความต้องการใหม่ ๆ แบบที่สหรัฐเขาเป็น

บ้านเราฝั่งดาราเซเลบ ฝั่งสื่อ จะเป็นฝั่งที่ค่อนข้าง conservative เพราะสังคมมันยังเป็นแบบนั้นอยู่ กลุ่มนี้จะมีอิทธิพลต่อประชาชนค่อนข้างมาก และ conservative ฝั่งบ้านเรา จะผูกปิ่นโตกับเรื่องคุณธรรม ศีลธรรมมากกว่า และด้วยความมีสิทธิมีเสียงในสังคมมากกว่า จึงเคลมคุณธรรมฝั่งตนได้ดังกว่า แต่ conservative ฝั่งนู้น มันเป็นเรื่องความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต ผลประโยชน์

๕.

ในระบอบประชาธิปไตย เราจะไม่ได้ผู้นำที่ดีไปกว่าประชาชนโดยรวม – มีหลาย ๆ คนเคยว่าไว้

คือถึงมีคนที่พร้อมแทบทุกด้าน ฉลาด มีอุดมการณ์ ดูตั้งใจทำงานจริง ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เลือกเขา

เพราะประชาชนเลือกตัวแทนเพื่อตัวเอง ฉะนั้น ถ้าแพ้ คนนั้นก็จะรู้สึกไม่มีที่ยืนให้กับเสียงของเขาในสังคม คนถึงมีแนวโน้มที่จะเลือกคนที่อยากเลือกที่สุดที่จะแพ้น้อยสุดด้วย ในการระดมเสียง ก็ทำได้ง่ายกว่า

กรุงเทพก็เลยน้ำท่วมทั้งวันทั้งปี สกปรกอยู่อย่างนี้ กล้องวงจรปิดเสียบ้าง เก๊บ้าง

เราแลกความพังในชีวิตประจำวันกับ big idea โดยไม่อยากจะรู้ตัวว่า
ประชาชนนั่นเองที่มีส่วนทำให้คนที่ดีมีความสามารถจริง ๆ ไม่มีที่ยืนในการทำงานเพื่อประชาชน

๖.

ชีวิตของประชาชนในเหล่ารัฐสีน้ำเงิน กับรัฐสีแดง มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคนละแบบ รัฐสีน้ำเงินได้ผลประโยชน์จากชาวต่างชาติและผู้อพยพค่อนข้างมาก ในขณะที่รัฐสีแดงส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น

ผู้อพยพเป็นปัญหาของประเทศหลาย ๆ ประเทศ และเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่ม conservative ค่อนข้างเป็นตัวเป็นตน แม้ว่าจะมีหลาย ๆ คนบอกว่า สองร้อยกว่าปีก่อนอเมริกาก็ประกอบด้วยผู้อพยพล้วน ๆ แล้วตอนนี้จะมากีดกันผู้อพยพทำไม คือมันก็เหมือนถามประมาณว่าสองร้อยกว่าปีที่แล้วยังไม่มีประเทศไทยแล้วทำไมตอนนี้เราไม่ญาติดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

คือมันสองร้อยกว่าปีมาแล้วอะ คนที่ตระกูลเขามาตั้งแต่ร้อยสองร้อยปีก่อนเนี่ย เขาก็สำนึกว่าเขาเป็นคนเมกันแล้วมั้ย เอาแค่ช่วง 1930-1945 ก็ได้ ตระกูลที่อพยพมาตั้งแต่ตอนนั้น ตอนนี้ก็เป็นคนเมกันไปเรียบร้อยแล้วล่ะ ทั้งนิตินัยและพฤตินัย

ฉะนั้นเราจะไปเอาสาระอินเดียนแดงอะไรตั้งแต่ปูนนู้น มันก็ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องตอนนี้ละ

ทีนี้ คนที่อพยพมาหลังจากนั้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ นี่ล่ะ ที่เป็นปัญหา แล้วก็เลยลามไปถึงพวกที่อพยพมาหลายเจเนอเรชั่นแล้วแต่เชื้อชาติพันธุ์ยังอีโวรูปร่างหน้าตาภายนอกให้เป็นฝรั่งไม่ทัน

ปัญหาไม่ได้หมายถึงเฉพาะอาชญากรรมและความที่ระเบียบในสังคมเก่าโดยรบกวนเท่านั้น ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ว่าที่ไหนอันตรายมากขึ้น คนในสังคมนั้นก็มีความสุขน้อยลง ปัญหาหลักคือการที่ประชาชนในประเทศเสียผลประโยชน์ โดนลดทอนโอกาส เพราะต้องแบ่งโอกาสนั้นให้กับผู้ที่อพยพมาใหม่ด้วย ปัญหานั้นเกิดมากขึ้นเมื่อทรัพยากรมีจำกัด เศรษฐกิจในประเทศอพยพหรือประเทศล่าอาณานิคม ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนสมัยก่อน

แนวคิด conservative จึงไม่ได้เกิดจากการที่เห็นว่าหน้าตาผิวพรรณไม่ใช่พวกเดียวกับตนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่”คิดว่า”ถูกแย่งทรัพยากรไปโดยไม่รู้สึกว่าแฟร์อีกต่างหาก ประชาชนก็ถึงรู้สึกว่า ทำไมประเทศตัวเองแต่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของคนในชาติ

ไม่เพียงแต่ผู้อพยพ แต่รวมไปถึงสิ่งที่หลั่งไหลเข้ามาในสหรัฐอเมริกา อีกด้วย

๗.

ในขณะที่รัฐสีน้ำเงิน ถ้าไม่ได้กลุ่มผู้อพยพหรือรับแรงงานต่างชาติ ก็คงไม่ขับเคลื่อนได้ขนาดนี้ จึงมีแนวความคิดที่ค่อนข้างเป็นสากล ไม่ค่อยแบ่งแยกเขาเรา เพราะมีผลประโยชน์เอื้อต่อกัน จะกั้นกำแพงทำซากอ้อยอะไร

รัฐสีแดง ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ต้องขับเคลื่อนอีกแบบ มีความหวังอีกแบบ ซึ่งโอบามาทำได้ โอบามาจึงได้เป็นประธานาธิบดี

๘.

ฐานเสียงของทรัมป์เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในทางเลือกของตน

แม้จะดูว่าคนที่เสียงดังและพูดเยอะกว่าจะเป็นฐานเสียงของฮิลลารี แต่นี่แสดงให้เห็นพลังเงียบตัวจริง ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงกับคนไม่เอาหรอก วัดกันวันเลือกตั้งไปเลย ยิ่งโพลออกว่าทรัมป์เป็นรอง ดาราออกมาด่าไม่ยั้ง สื่อบางสื่อต้านเต็มที่ ก็ยิ่งทำให้คนที่สนับสนุนทรัมป์มีความมุ่งมั่นมากขึ้นไปอีกในการลงคะแนนเสียง

คนที่เลือกทรัมป์ไม่ได้โง่ และในทางกลับกันก็ใช่ว่าคนที่เลือกฮิลลารีจะฉลาดกว่า

๙.

ข้อนี้ ก็เห็นมีพูดกันบ้างแล้ว นั่นคือ ตัวคลินตันเอง ถึงแม้เธอจะซุปเปอร์มุ่งมั่น ศักยภาพของเธอไม่ธรรมดา และดูเป็นคนคุ้นเคยกับความสูงระดับประธานาธิบดีมานานหลายปี แต่โดยรวมแล้วเธอบุญบารมีไม่พอ และวีรกรรมในอดีตมากเกินไปสำหรับหลาย ๆ คน

การที่พยายามประโคมให้เกลียดทรัมป์แล้วไปเลือกคลินตัน ยากกว่าให้ไปเลือกอัลกอร์(ถ้าลงสมัคร)เยอะเลย

เราจึงคิดว่า ทรัมป์จังหวะดีมาก เราว่าฮีรู้ว่าฮีมีโอกาสมากพอที่จะลงทุนลงแรงขนาดนี้ และฮีเอาจริง มันไม่ง่ายที่คนอายุ 70 จะมาเย้ว ๆ ขนาดนี้

เราจึงคิดว่าทรัมป์ไม่โง่ รู้จังหวะ ฉลาดเฉลียว มีความสามารถ มุ่งมั่น มีพลัง มีบารมี อย่างน้อยนางก็ไม่ใช่คนสูงอายุธรรมดาธรรมดาที่มีแต่รวยเรื้อรัง (อืม แต่มีแค่นั้นก็พอละปะวะ 55555)

สตรีหมายเลขหนึ่งก็ใช่ว่าจะโง่ อย่างน้อยคนที่รวยล้นฟ้าคนหนึ่งก็เลือกเธอเป็นหนึ่งในภรรยา คนทั่วไปเขาได้สามีรวย ๆ มาง่าย ๆ กันด้วยเหรอ จะบอกว่าเธอเป็นแค่คนโง่ที่โชคดีอย่างนั้นเหรอ

เอาจริง ๆ เราก็เห็นจากประวัติศาสตร์ซ้ำไปซ้ำมาว่า ประชาชนที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าผู้นำ ก็ล้วนแต่โดนหลอกใช้ง่าย เพราะไม่คิดว่าตัวเองนั้นกำลังโดนหลอกใช้อยู่

แต่สุดท้ายจะทรัมป์ตกม้าตายเพราะตัวเองไหม ก็รอดูกันต่อไป

๑๐.

จะว่าไป ปีนี้เป็นปีที่โลกเราได้ผู้นำในหลายประเทศที่มีสีสันนะ ไม่ว่าจะเป็นสาวโสดรักแมวประจำไต้หวัน นายแบบชวนฝันแบบแคนาดา นักเลงใจกล้าอย่างฟิลิปปินส์ เจมส์บอนด์ปูตินแห่งรัสเซีย ทหารเขี่ยกาพย์กลอนจากเมืองไทย ขนมสายไหมของสหรัฐอเมริกา

 

 

ส่วนประชาชนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ไม่ว่าข้างบนเขาจะเล่นอะไร ก็ควรไปทำงานหมุนหนี้กันต่อไป
ขอบคุณรูปที่ยังไม่ได้รีทัชจาก
รูปคุณดวงตาตุง
thelibertarianrepublic.com

โถส้วมในอุดมคติของข้าพเจ้า

my-ideal-loo-factor

จากประสบการณ์การใช้ส้วมมากว่า 30 ปี ในที่สุดเราก็ได้สเป็กของโถส้วมที่เราคิดว่า ดีต่อมนุษยชาติ ขึ้นมาทั้งหมด 4 ข้อ เลยอยากจะแบ่งปันให้สาธุชนได้นำไปเลือกส้วมที่ชอบ ๆ กัน ดังนี้

1. รูปร่างของที่นั่ง
เราว่า ที่นั่งวงรีเบสิค ป้านด้านหลังหน่อย ๆ เป็นที่นั่งที่เข้ากับสรีระมนุษย์สุดแล้ว ส้วมหรูๆหลายตัวเป็นแบบสี่เหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมคางหมู มันนั่งไม่พอดีเบ้า มันทำให้การถ่ายเทน้ำหนักไปยังจุดที่ถูกที่ควรมีอุปสรรคกลางทาง ไม่เทียบเท่าวงรีเบสิค รอบวงในโค้งลง

2. อย่าเลือกส้วมเหมือนเลือกโซฟา
ฟังก์ชั่นมันต่างกันแยะ คอนเซปท์ส้วมนั่งราบ ยิ่งนั่งสบาย ยิ่งเสี่ยงต่อความเบ่งบานของริซซี่ เพราะถ้าสบายประตูเกิน ทวารบาลก็จะชิลไปด้วย จึงต้องใช้แรงเบ่งดินน้ำมันมาก โอกาสที่ริซซี่จะตื่นจากการหลับไหลจึงยิ่งมาก การเลือกแบบนั่งได้พอดีที่ช่วยเร่งให้ดินน้ำมันออกจากสายพานการผลิตเร็ว ๆ และสำหรับคนเตี้ย การนั่งโถส้วมแล้วเท้าลอย มันจะทำให้การอุ๊ดจี้ต้องใช้แรงดันที่ประตูมากขึ้นเช่นกัน การลองนั่งจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าร้านไหนไม่ให้นั่ง อย่าไปซื้อ เพราะโถส้วมจะอยู่กับเราได้ถึงวันตาย (นั่งเฉย ๆ นะ ไม่ต้องทดลองใช้จริง)

3. วังน้ำวน
การดูดินน้ำมันของเราก่อนที่จะกดน้ำ มันก็เป็นการเช็คสุขภาพไปในตัวว่า มีความผิดปรกติอะไรหรือเปล่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เราต้องหาความบันเทิงจากการที่เห็นดินน้ำมันเราแหวกว่ายวนเวียนอย่างสโลว์ไลฟ์นิยม เราต้องการสึนามิ ที่จะทำให้ดินน้ำมันเราหายเข้าหลังฉากไปอย่างรวดเร็ว จะมีประโยชน์อะไรถ้าน้ำวนอย่างสวยงามแล้วดินน้ำมันยังดำผุดดำว่ายให้แทงตา

4. การสะท้อนกลับ
เราไม่ต้องการการสะท้อนกลับของอนุภาคที่เราปล่อยวางแล้ว ส้วมบางแบบ องศามันช่างพอเหมาะพอดี ตุ๋มลงแล้วน้ำผสมดินน้ำมันกระจายขึ้นตอบโต้ที่จุดเดิม หรือยิงน้ำแล้วน้ำก็สะท้อนกลับเข้าจุดยิงเกร๋ๆ เราไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น (ไม่ควรมีใครต้องการแบบนั้น) ส้วมที่ตื้นเกินไปมักจะเกิดปัญหานี้ เพราะองศาความชันมันจะทำให้สะท้อนกลับหาจุ๊ดมุ้ดตุ๊ดแทนที่จะกดองศาลงไปสู่ที่ถูกที่ควร

เพียงสี่ข้อนี้ เราก็จะได้มาซึ่งโถส้วมคู่ใจ ที่ไปไหนก็อุ๊ดจี้อุ่นใจไม่เท่าโถเรา

ทรรศนะของข้าพเจ้า ณ ตอนนี้กับเว็บดีล

ว่าถึงการจากไปของกรุปปอนไทยแลนด์
เล่ามุมมองส่วนตัวที่ ห่างนิด ๆ ใกล้หน่อย ๆ ก็แล้วกัน

– ตั้งแต่วันแรกที่เรารู้จักเว็บดีลเมื่อหลายหลายปีที่แล้ว เราคิดมาตลอดว่าการทำดีลแบบนี้ มันไม่ win-win กับทั้งผู้บริโภคและเจ้าของกิจการเสมอไป เรียกว่าส่วนใหญ่ไม่ win-win เลยดีกว่า

สิ่งที่ตามมาคืออะไร ก็คือ เมื่อโมเดลธุรกิจมันไม่ได้ตั้งอยู่ในผลลัพธ์ win-win เสียเป็นส่วนใหญ่ และมันเป็นความ lose-win แบบที่ค่อนข้าง aggressive ด้วยซ้ำ ความยั่งยืนของโมเดลธุรกิจเว็บดีลก็ยากที่จะเกิด ซึ่งเราก็คิดว่าคนที่กระโดดลงมาทำและโกยเงินกระโดดออกไปเรียบร้อยแล้ว ก็รู้ถึงข้อนี้เป็นอย่างดี

(เอาจริงๆ ธุรกิจในโลกมันก็ไม่จำเป็นต้องยั่งยืนทั้งหมดหรอก บางธุรกิจมันก็เกิดมาเพื่อโกยให้พอและทันเวลาแล้วก็เลิกรากันไปก็มีเยอะแยะ)

ธุรกิจยักษ์ที่แทบจะ monopoly ในโลกเราจริงๆมันก็ lose-win เหมือนกัน แต่ตราบใดที่ยังบาลานซ์ความ lose หรือสร้าง vicious cycle ที่จะทำให้ฝ่าย lose ไม่สามารถมีทางเลือกอื่นได้ มี Asset เกินที่คนจะปฏิเสธได้ ก็ยังอยู่แบบโตขึ้นเขมือบโลกมากขึ้นได้เรื่อยๆ แต่เว็บดีลนั้นไม่ใช่

– บางธุรกิจก็เหมาะกับเว็บดีลจริง ประเภทธุรกิจที่เหมาะคือ ธุรกิจที่มีงบการตลาดชัดเจน มีศักยภาพในการรองรับปริมาณลูกค้า มี margin ในสินค้าบริการของตัวเองสูงไปถึงสูงมาก เจ้าของกิจการต้องพิจารณาดูเองว่า กิจการเราเข้าข่ายหรือเปล่า

การทำธุรกิจ ไม่มีใครอยากเจ็บตัว การจ่ายเงินคือการลงทุน การลงทุนในเว็บดีล เจ้าของกิจการมักมองว่าเป็นการลงทุนทางด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมักจะเป็นส่วนต่างของราคาขายทั้งหมด แต่สำหรับกิจการที่ไม่ได้มีงบกันไว้ชัดเจน มักเกิดปัญหาขึ้น

– เพราะเว็บดีล เป็นนายหน้าที่จำเป็นต้องกำราคาที่ถูกถล่มลงมาให้ต่ำเตี้ยที่สุดเท่าที่ทำได้ เป็นการดึงคนให้เข้ามาใช้บริการตัวเองเยอะ ๆ ถามว่าที่ว่าต่ำมากนี่ต่ำขนาดไหน ก็ต่ำขนาดที่หน้าเว็บคนว่าโคตรถูกแล้ว ไอ้ราคาที่โคตรถูกนี่ยังโดนหัวคิวกินจนเหลือแค่เสี้ยวเดียวซะเป็นส่วนใหญ่ ขนาดนั้นแหละ

ฉะนั้น ยิ่งคนโหมกันมา นั่นคือตัวเลขที่ติดลบมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมเสี่ยง negative feedback อีกเมื่อเกิด full capacity หรือการลดต้นทุนแบบไม่เนียน บางกิจการเข้าขั้นเจียนเจ๊ง ต้องพักรักษาตัวกันยาวเลย

เว็บดีลจึงมักไม่เหมาะกับกิจการที่ต้องการอยู่ใน Blue Ocean ใช้คุณภาพ ใช้ฝีมือ หรือความคิดสร้างสรรค์นำราคา ไม่สามารถผลิตสินค้าในจำนวนมาก ๆ ได้ในทีเดียว ยกเว้นว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปรกติจริง ๆ หาทางออกไม่ได้ หรืออยากลองของใหม่

– เท่าที่ประสบมากับตัว การเจรจาดีลของเว็บดีล คนที่มาดีล ก็ไม่ได้เข้าใจธุรกิจเท่าไหร่ (บางคนนี่ขอเมาท์ว่ามาพรีเซนต์เหมือนเป็นนักบุญผู้ปลดปล่อย มีคุณูปการกับร้านอย่างสูง อูราชาบู) ซึ่งอันนี้เข้าใจได้ เราเคยริเริ่มจะทำระบบ CRM กับ SME และเคยคิดดีลเพื่อไปพิชท์งาน ตอนนั้นก็คิดแต่ว่าทำยังไงร้านถึงจะมาใช้ระบบนี้ เอาเงินให้เรา คิดแต่ว่าไปเอาส่วนลดจากร้านมา ให้ร้านแถมนู่นแถมนี่ให้ลูกค้า เพื่อให้คนมาให้ระบบเรา

พอมาทำร้านเอง การเลยยิ่งรู้ซึ้งถึงบางอ้อว่า กิจการเล็ก ๆ สายป่านไม่ได้ยาว ทำกำไรไม่ได้สูงอะ นอกจากจะต้องไถนาพรวนดินเองแล้ว ค่าใช้จ่ายก็ยุ่บยับให้จัดการกันวุ่นวาย เพราะฉะนั้น จะเอาอะไรเข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม มันต้องคิดแล้วคิดอีก คิดว่าคุ้มจริงไหม มียี่สิบแอพสามสิบเว็บที่จะมาขอส่วนลด ไหวมั้ย งบปาเข้าไปเป็นเท่าไหร่ สู้เอาเงินที่จะลงไปกับเหล่านี้ไปจ้างเด็กเพิ่ม หรือตกแต่งร้านให้สวยขึ้นดีมั้ย แล้วอาศัยพลัง Viral และความดีงามของ Product ตัวเองเท่าที่ทำได้ ดึงลูกค้าตัวจริงของร้านเข้ามาเอง

– ลูกค้าหลายคนมีมายาคติว่า ฉันควรได้ของเท่ากับคนอื่น ทั้งๆที่ฉันจ่ายน้อยกว่า(มากกกก) เอาตามตัวหนังสือและข้อตกลง ลูกค้าที่ซื้อดีลก็ควรได้รับสินค้าบริการที่เท่าเทียมนั่นแหละ แต่ในทางปฏิบัติ อย่างที่บอก ไม่มีใครอยากทำธุรกิจแบบเจ็บตัว ทางหนึ่งที่จะรับลูกค้าซื้อดีลมาราคาถูกเวอร์ก็คือ ลดต้นทุนในการบริการหรือสินค้าสำหรับลูกค้าคนนั้นๆไปด้วย และดราม่าก็จะบังเกิด นอกจากสามารถลดต้นทุนได้อย่างแนบเนียน

แล้วก็แปลกนะ เราก็ยังหลวมตัวเชื่อสิ่งที่ Too Good to be True กันตลอดมา

– จากความเห็นของกิจการหลาย ๆ แบบที่ได้ไปพูดคุยมา ข้อด้อยที่สุดของการทำดีลกับเว็บดีลก็คือ เรื่องของการเสียโอกาสการได้ลูกค้าตัวจริง ลูกค้าที่เข้ามา ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่อยากได้ และจุดประสงค์ในการมาของลูกค้า ก็เพราะมันลด ถ้าไม่ลดก็ไม่มา

ลูกค้าอาจจะแย้งว่า นี่ไง ฉันต้องการทดลองดูก่อน ถ้าดีฉันก็ซื้อต่อเองแหละ แต่ในความเป็นจริง ลูกค้าของเว็บดีลเป็นกลุ่มที่ loyalty ต่ำมาก น้อยมากที่จะซื้อซ้ำถ้าต้องซื้อราคาตอนที่ยังไม่ลด (ไม่ได้แปลว่าลูกค้าเว็บดีลเป็นคนไม่มีตังนะ มีตังไม่มีตังอีกเรื่อง พฤติกรรมการใช้จ่ายก็อีกเรื่อง)

สำหรับลูกค้าประจำที่อุดหนุนกิจการเราตลอดมา ยินดีจ่ายราคาเต็ม อาจจะรู้สึกร้านไม่แฟร์กับเขาก็ได้ ถ้ามันดูเหมือนว่าเราเอาใจลูกค้าดีลมากเกินไป อาจจะทำให้เราสูญเสียลูกค้าประจำไปด้วยได้

โอเค กิจการหลายแบบก็มีลูกค้าแบบครั้งเดียวจบเป็นหลักนั่นแหละ แต่การที่ลูกค้ามาแบบครั้งเดียวจบโดยที่ยังไม่ทันได้กำไรอะไรเลย ก็เป็นหายนะได้เหมือนกัน ถ้าเป็นกิจการที่ใหญ่โตแล้วก็อาจจะเสียขนหน้าแข้งไปไม่กี่เส้น

– คิดว่า เว็บดีลที่จะอยู่ได้ ต้องปรับกลยุทธ์ให้เกิดความ win-win มากกว่า lose-win อย่างที่ผ่านๆ มา จริงๆการดีลมันมีมานานแต่กาลก่อนแล้วตั้งแต่มนุษย์รู้จักการค้าขายแลกหอยแลกไข่นู่น เพราะฉะนั้น จุดสมดุลของมันก็มีแหละ

ทรรศนะของข้าพเจ้า 22 ประการต่อการเมืองปัจจุบัน

บล็อกเอนทรีนี้ ได้จุดสตาร์ทมาจาก @iannnnn (n ครบรึเปล่าเนี่ย) ที่ได้เขียนเรื่อง ประชาธิปไตยและการเมืองไทยในทรรศนะของข้าพเจ้า ขึ้นมา

การเมืองเป็นเรื่องที่เราสนใจ ที่ไม่ค่อยอยากยุ่งเท่าไหร่นัก  เมื่อก่อนยิ่งไม่เอาเลย ข่าวการเมือง ใครจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามเมื่อโตขึ้น ชีวิตมันก็เหมือนทำให้ต้องสนใจการเมืองไปโดยปริยาย การเสียภาษีเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว อายุมากขึ้น เห็นสังคมกว้างขึ้นประมาณหนึ่ง มีคนมากระทบหรือเราไปกระทบคนมากมาย การที่ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นตามประสามนุษย์โลกผู้มากภาระ การที่ต้องมีกฏเกณฑ์มาบังคับเรา มันก็เป็นคำถามมากมายที่โยงไปถึงการเมืองไม่ว่าจุดใดก็จุดหนึ่ง

ที่ก่อนหน้านี้ไม่อยากเขียนเพราะไม่อยากสู้กับใครที่ไม่เห็นด้วย แล้วเรื่องการเมืองด้วย แต่คิดไปคิดมา เออ เขียนละกัน

ที่จะเขียนต่อไปนี้ก็คงเป็น random thought ซึ่งก็คงจะมีความคิดที่ตกๆหล่นๆไปบ้างตามปรกติ และขอดอกจันไว้อีกรอบว่า ทุกอันไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อคิดเห็น ไม่อยากขึ้นทุกหัวข้อด้วยคำว่า “ส่วนตัวคิดว่า…” ซึ่งเป็นวลีป้องกันตัวเองอย่างดีแต่รุงรังชะมัดยาดเลย

.

1.  การเมืองเป็นเรื่องของรสนิยมและความเชื่อซะเป็นส่วนใหญ่
ไม่ต่างอะไรกับการเลือกนุ่งกระโปรงหรือกางเกง ไม่ต่างอะไรกับการนับถือศาสนาหรือเชื่อลัทธิ หรือแม้กระทั่งเชื่อแต่ตัวเอง ซึ่งทุกคนมีเหตุผลที่จะเลือกเชื่อ หรือเชื่อแล้วจึงมีเหตุผลที่จะเชื่อต่อไป เลือกมีรสนิยมเป็นอย่างไรได้อย่างอิสระ ตราบใดไม่ไปเบียดกรอบของคนอื่นเขา หรืออินกับมันมากจนทำให้เสียมิตรภาพและอื่นๆ ก็เรียกว่ายังอยู่ในปรกติสภาพ

คุณไม่สามารถ”รู้”ทั้งหมดหรอกว่านักการเมืองที่คุณชอบน่ะดีจริงหรือเปล่า นักการเมืองที่คุณเกลียดน่ะเลวทุกกระเบียดจริงไหม ขนาดคนในบ้านเราเองยังไม่เข้าใจกันบ้าง ยังไม่รู้ความเคลื่อนไหวกันตลอดเวลาบ้างเลย แต่คุณสามารถสรุป”เชื่อ”ไปทางไหนก็ตามเท่าที่คุณมีข้อมูล โดยทัศนคติประมวลผล และมีอคติกลั่นกรอง

เรา”เชื่อ”ว่า นักการเมืองส่วนน้อยดี แต่ถึงดี ก็ไม่ได้แปลว่าผลประโยชน์พรรคจะต้องมาทีหลัง หรือระบบการเมืองจะกลืนกินไม่ได้ และเราก็”เชื่อ”ว่า นักการเมือง รวมไปถึงผู้มีส่วนปกครองประเทศก็เล่นละครการเมืองกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าใครได้บทอะไร และตราบใดที่นักการเมืองยังต้องสังกัดพรรคในสังคมไทยซึ่งแข็งแกร่งเรื่องพรรคพวกขนาดนี้ ก่อนที่นักการเมืองเหล่านี้จะทำอะไรให้ประชาชนได้ (ไม่ว่าร้ายหรือดี) พวกเขาก็ต้องเอาตัวเองให้รอดในพรรคก่อนแหละนะ ซึ่งพรรคก็ต้องเอาองคาพยพให้อยู่ยงเช่นกัน ศาสตร์ในการเอาตัวอยู่รอดกับศาสตร์ในการเอาประเทศชาติรอดก่อนมันก็เป็นคนละศาสตร์กัน จึงไม่ต้องสงสัยว่า ผู้แทนของเรา เลือกแล้วทำไมกลายเป็นผู้แทนของใครไม่รู้ ยู้ฮู

.

2. พวกใครพวกมัน
ไม่มีสีไหนฉลาดหรือโง่กว่าสีไหน ถ้าไม่สุดลิ่มจนเกินไป ก็คงเห็นได้ว่า คนคงไม่โง่บัดซบครึ่งประเทศ แล้วพวกที่เห็นด้วยกับเรานี่ก็คงไม่ใช่ฉลาดดีเลิศประเสริฐหมดทุกคน

คือถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ประเทศไทยสร้างรถไฟไปดาวพลูโตได้แล้ว ถ้าคนฉลาด ไม่โกง ขยัน ดี จะเยอะขนาดนั้น

ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี ที่โดยพื้นฐานไม่มีเรื่องแบ่งแยกที่ซีเรียสเหมือนเรื่องสีผิว หรือศาสนา จริงๆแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศตัวอย่างในการ hybrid คนที่แตกต่างกันมากๆด้วยซ้ำ จะมีประเทศไหนที่มีชุมชนไทย จีน คริสต์ อิสลาม ประสานกันได้เท่าประเทศไทย แม้ว่านิวยอร์กหรือหัวเมืองใหญ่ๆในโลก จะได้ชื่อว่าเป็นหม้อหลอมวัฒนธรรม แต่เท่าที่สัมผัส มันคือการหลอมในแง่หลอมทิ้งแล้วทุกคนมาเริ่มวัฒนธรรมกันใหม่คือวัฒนธรรมนิวยอร์ก

แต่ประเทศไทยทั้งประเทศ ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่หลอมวัฒนธรรมต่างๆมารวมกันอย่างที่ไม่ใช่หลอมทิ้ง ทุกวัฒนธรรมศาสนายังโดดเด่น ใครใคร่นับถืออะไรก็นับถือไป มีวัฒนธรรมติดมาจากบ้านเกิดยังไงก็ทำ แล้วก็อยู่ร่วมกันได้อย่างยอมรับความแตกต่างด้วยซ้ำ มาหลังๆนี่แหละที่การปกครองบ้านเมืองที่ไม่เข้าใจเรื่องการจัดการกับวัฒนธรรมศาสนา ทำให้คนไทยจ้องความแตกต่างของคนอื่นแต่ไม่ทำความเข้าใจกันมากขึ้นและมากขึ้น

เอาจริงๆเราว่าที่มันแบ่งสีแบ่งเบื๊อกอะไรเอาเป็นเอาตายตอนนี้นะ เป็นเรื่องที่ไม่น่าซีเรียสเลยตั้งแต่แรก แต่มันซีเรียสขึ้นเรื่อยๆเพราะการประโคม การทำซ้ำ และการเพิ่มระดับความรุนแรง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเกมที่นักการเมืองลอยตัว แล้วก็ปล่อยประชาชนที่ปลุกปั่นได้ที่แล้วขย้ำกันเอง โดยลืมไปว่า ประเทศไม่ได้ชื่อประเทศพันธมิตร ไม่ได้ชื่อประเทศเกลียดทักษิณ ไม่ได้ชื่อประเทศเสื้อแดง แต่ประเทศนี้มีชื่อว่าประเทศไทย

เวลาไหนมันทำให้นักการเมืองสนตะพายประชาชนชิลๆได้เท่ากับตอนที่ประชาชนไม่รักกันเอง มัวแต่หลงตัวเองกันอยู่ว่าตัวเองถูกและดี (เป็นฟู้ดแลนด์กันหรือไง)

.

3. I am what you see
แน่นอนว่าไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็จะมีฝ่ายสุดลิ่ม เกลียดแดงสุดลิ่ม เกลียดปชปสุดลิ่ม เกลียดเหลืองสุดลิ่ม เกลียดทุกคนแม่งเลยสุดลิ่ม และความตลกก็คือ เอาคนที่สุดลิ่มคิดเป็น Stereotype ของฝ่ายนั้นๆ คิดว่าฝ่ายนั้นมันเป็นอย่างไอ้สุดลิ่มนั่นทุกคนไปเลยเอย ซึ่งมันเกิดตรรกะต่ำไบ๋แบบนี้ได้ง่าย ในสังคมที่ไม่คุ้นเคยกับเชิงลึก จึงต้องพยายาม simplify เพื่อทำให้เข้าใจโลกและทำให้สามารถ take action สนองตอบกลับไปตามที่เข้าใจโลกแบบนั้น

ทุกวันนี้สิ่งที่คนแสดงกันออกมาก็เหมือนลูกหินที่กระทบกระทั่งกันไปมาประมาณหนึ่งแล้ว ที่แสดงกันออกมามันจึงเป็น”ปฏิกิริยา”เป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง”ปฏิกิริยา” ส่วนหลักๆส่วนหนึ่ง มันก็มาจากว่า ถูก take action มายังไง การที่ take action มันก็มาจากการที่ผู้กระทำนั้นเข้าใจโลกว่าอย่างไร เข้าใจคนที่ไปทำเขาว่าอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุด “ปฏิกิริยา” อาจจะไปตรงกับสิ่งที่ผู้กระทำคิดว่าจะเป็นก็ได้ แล้วมันก็จะยิ่งตอกย้ำผู้กระทำว่านี่ไง คิดถูกแล้ว มันเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ โดยที่ลืมฉุกคิดไปว่า สิ่งที่ผู้ถูกกระทำจัดกลับมามันก็มาจาก input ของผู้กระทำนั่นเอง

เราเจอมาแล้วทั้งข้อหาเสื้อแดง และข้อหาสลิ่ม ข้อหาติ่งปชป มาถึงจุดนี้ก็ ใครจะมองว่าไงก็ตามบาย ไม่ขัดใจ เพราะก็ไม่รู้จะเถียงไปทำไมว่าฉันไม่ใช่ไอ้นั่นไอ้นี่ เพราะจริงๆเราอาจจะเป็นมันทุกข้อหาที่บอกมาก็ได้มั้ง

.

4. we are all naive
คนเราต้องการที่จะรู้สึกดีกับตัวเอง การที่ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าตัวเองยังดีอยู่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสำนึกในตัวตน แต่บางทีตรรกะมันก็ไม่ได้ไง แต่อินอะ ไม่รู้แล้วว่าตรรกะมันมึน เราจึงมักได้ยินคนที่ต้องการความสงบแต่กูต้องฉลาดสุดถูกต้องที่สุดด้วยเป็นปรกติในปัจจุบัน

เรามักจะคิดว่าเราฉลาดและดีกว่าไอ้พวกที่อยู่สภา เราได้ฟังข้อมูลมากมาย เราต้องฉลาดแล้วแน่ๆ คือถ้าประชาชนฉลาดกว่าดีกว่ากันจริง คนโง่ต่ำไบ๋คงไม่มีโอกาสได้อยู่ในสภาแน่นอน

ทุกคนมีอุดมคติไปคนละแบบ คนที่อินการเมืองมากๆมักนึกว่าตนเองมองการเมืองอยู่ยืนบนความจริง มองคนอื่นอ่อนต่อโลกแถมอุคมคติสุดกู่

แต่บางที คนๆนั้นอาจจะเป็นคนอ่อนต่อโลกจนทนเห็นโลกไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการไม่ได้ก็ได้

.

5. people as tools
ประชาชนเป็นเครื่องมือของนักการเมือง เป็นเรื่องปรกติ และเป็นได้ อยู่ที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เพราะประชาชนก็ถือเป็นแขนขาของนักการเมืองอยู่แล้ว ส่วนหน้าที่ผู้แทนที่คือรวมหัวเราทุกคนไปพูดแทน คิดแทนว่าเราต้องการอะไร คือร่างกายน่ะ เป็นนายของสมอง แต่สมองทำหน้าที่คิดให้ร่างกาย ซึ่งถ้าคิดแล้วดีกับร่างกายไม่ฝืนร่างกายก็ดีไป แต่ถ้าคิดแล้วฝืนร่างกายจนต้องประท้วงสมอง ก็อีกเรื่อง

.

6. blow their asses off
มีคนเคยถามว่า ถ้ากดระเบิดบึ้มสภาตอนที่นักการเมืองอยู่กันครบ ประเทศชาติจะดีขึ้นไหม เราใช้เวลาคิดประมาณ 1 วินาที แล้วตอบว่า ไม่

เราชอบหนัง V for Vendetta นะในแง่ที่มัน เออ เท่ดีแฮะ แต่เมื่อดูเราก็สงสัยว่า เจ้าหน้ากากขาวนั่นพูดความจริงทั้งหมดไหม รัฐบาลเลวขนาดนั้นจริงหรือเปล่า เราเชื่ออีตาหน้ากาก เพราะอีตาหน้ากากใกล้ชิดกับเรามากกว่า มีฝ่ายประชาชนสนับสนุน หรือเพราะเป็นพระเอกของเรื่องหรือเปล่า การทำลายรัฐบาลมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆจริงหรือ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราคิดว่า หนังก็ตั้งใจทิ้งประเด็นไว้ให้คิดกันเอาเอง

การเมืองไม่ใช่เรื่องของอาคารสภา หรือแค่นักการเมือง ปัญหาการเมืองมันเหมือนพริกในส้มตำ จะเอาออกก็ไม่ใช่จะเขี่ยชิ้นเดียวทิ้งแล้วหายเผ็ด ต่อให้นักการเมืองหายไปทั้งประเทศ ถ้าระบบข้าราชการยังเฟะ คนตามสถานบันต่างๆยังยึดอะไรไม่รู้ mindset ของคนในประเทศยังเป็นเหมือนเดิมๆ นักการเมืองชุดใหม่ก็เข้าอีหรอบเดิม

ก็นักการเมืองไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ที่หลินปิงเคี้ยวทิ้งไว้นี่ เขาก็เป็นคนไทยเหมือนเรานี่แหละ ในเมื่อนักการเมืองกำเนิดขึ้นจากสังคมไทย สังคมไทยเป็นอย่างไร นักการเมืองก็สะท้อนสังคมแบบนั้นโดยไม่ต้องรอให้ทีวีช่องไหนสร้างละคอนสะท้อนให้ดูเลย

.

7. รักษาเพื่อนให้ดี
ข้อนี้เห็น @iannnnn เขียน ก็เขียนบ้าง

เราเคยรู้สึกโดนคุกคาม แซะ กระแนะกระแหน หาเรื่องทะเลาะ จากเพื่อนที่มีความคิดทางการเมืองต่างกันมาแล้ว จนถึงจุดนึงที่รู้สึกว่า นี่มันเกินกว่าจะเรียกกันกว่าเพื่อนแล้วนะ ซึ่งในสายตาเขา เขาอาจจะคิดแค่ว่า กระทุ้งเล่น สนุกๆ เห็นต่างดีนักใช่ไหม เกรียนใส่ซะเลย(บ่อยๆ) ก็ได้ แต่ความเป็นเพื่อนมันไม่ได้แปลว่าจะเป็นเป้าระบายอารมณ์ร้อนรุ่มทางการเมืองใดๆก็ได้นี่ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายการถกของอีกฝ่ายมันกลายจากเรื่องหลักการตรรกะมาเป็นตัวเราเป็นเป้ายิงซะงั้น

พอโดนมาเอง และเริ่มตกตะกอนทางการเมืองระยะหนึ่ง เราก็เห็นว่า คนเราควรรักษามิตรภาพกันไว้มากกว่าจะเอาชนะคะคานเรื่องความคิดทางการเมือง ซึ่งโอเคมันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ แต่มันจะเต่าถุยมากถ้าเอามาทะเลาะกันแล้วก็เสียเพื่อนหรืออย่างน้อยก็ทำให้เสียความรู้สึกในความเป็นเพื่อนกันไป

.

8.  ตัวเลือกที่แสนน้อย
ณ ปัจจุบัน เรายังมีศรัทธาในตัวคุณอลงกรณ์ คุณชัชชาติ ว่าเป็นคนในพรรคการเมืองที่คิดดีทำดี คุณชัชชาติดูได้ทำอะไรมากหน่อยเพราะอยู่ในตำแหน่งในขณะที่คุณอลงกรณ์ช่วงนี้ดูทำอะไรไม่ได้ ในขณะที่นักการเมืองรุ่นใหม่คนอื่นๆเราไม่มี gut feeling ที่จะสัมผัสได้ว่าจะทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อาจจะไฟแรงแต่คิดอะไรแสดงอะไรออกมาก็ไม่พ้นเงาพรรคการเมืองที่ตัวเองอยู่อยู่ดี ไม่มีอะไรใหม่ให้การเมืองอย่างที่ 2 คนนี้สร้างขึ้นมา

ซึ่ง เราว่า 2 คนมันน้อยไปที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆทางการเมืองจริงๆ พนักงานการเมืองใหม่ก็ทำตัวเหมือนประเทศไทยไม่คิดแบบพรรคนู้นก็ต้องคิดแบบพรรคนี้เท่านั้น แทนที่จะคิดทำอะไรทะลุกรอบออกไป ให้ประชาชนมีทางเลือกใหม่ๆบ้าง ให้ประชาชนเห็นได้้บ้างว่า เอ๊ะ มีทางเลือกที่ 3, 4, 5, 6 นี่นา ก็เออ (ยัง)ไม่มี ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรกับพนักงานใหม่เข้าไป operate โรงงานเดิม เครื่องจักรเดิมๆ

.

9. คนดี กับคนทำงานได้ดี อาจจะไม่ใช่คนเดียวกัน
ตามอุดมคติแล้ว คนทำงานการเมืองควรจะต้องทั้งมีความดีและมีความเก่งในการทำงานแบบนี้ โชคไม่ดีที่ประเทศไทยมีพนักงานการเมืองที่มีทั้ง 2 สิ่งนี้น้อยมาก และในจำนวนที่น้อยก็ยิ่งมีโอกาสที่น้อยสุดสุดที่จะมีอำนาจขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง และโชคไม่ดีเข้าไปใหญ่ที่พนักงานการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติทั้งสองอย่าง แต่มีคุณสมบัติการเอาตัวเองรอดเป็นเลิศ

ใครๆก็อยากได้หรอก พนักงานการเมืองที่เห็นแก่ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่จมอยู่แต่ความดีในอุดมคติอีโก้ของตัวเองแล้วยังทำงานเก่งอีกต่างหากเนี่ย แต่มันมีให้เลือกไหม แล้วถ้ามีจะเลือกไหม

.

10. ไม่มีใครอยากแพ้พ่ายทางการเมือง
เราอาจจะไม่แคร์ว่าใครจะมองว่าเราโง่การเมืองหรือ แต่เราไม่อยากเป็นขี้แพ้ทางการเมือง เลือกใครก็ไม่เคยชนะกันหรอกนะ

เวลาเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ก็จึงพยายามเลือกสิ่งที่หวังว่าจะทำให้ตัวเองอย่างน้อยก็ไม่โหล่ ชนะได้ยิ่งดี (อ่านบล็อก Last Place Aversion เพิ่มเติม) เพราะฉะนั้น คนที่จะมาให้เลือก ก็เลยต้องมี factor ชนะอยู่ด้วย ไม่งั้นให้ดีให้เก่งยังไงก็ไม่ได้รับเลือก แล้วเราก็วนอยู่ในอ่างแบบนี้ แล้วก็ภาวนาให้มีคนดีคนเก่งคนใหม่ๆเข้าวงการการเมืองอีกแหละ

เราอาจจะรู้สึกว่า ถ้าไปเลือกคนที่ไม่น่าจะชนะได้ เสียงของเราจะสูญเปล่า เราว่านั่นเป็นมายาคติชนิดหนึ่งที่นักการเมืองเก่าจับจุดได้และเบี่ยงเบนเราให้เราทำตามที่เขาต้องการ จริงๆถ้าเราไม่เอาเสียงของเราผูกไว้กับความชนะหรือแพ้ เราก็ว่าเสียงของเราก็ไม่เคยสูญเปล่านะ

.

11. ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สมัยก่อนคือยุคทองผ่องอำไพ
มีความคิดมากมายจากหลายคนที่คิดว่า ถ้าเรากลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้กษัตริย์เป็นใหญ่ ประเทศชาติจะดีกว่านี้ คำถามคือรู้ได้ยังไงว่ามันจะดีกว่า เราว่าคนเราหายูโธเปียให้ตัวเองเสมอ การย้อนกลับไปหาโลกเก่าๆเพราะเหลือทนกับโลกปัจจุบัน ก็เป็นทางหายูโธเปียในแบบหนึ่ง

แน่นอนว่าในหลวงองค์ปัจจุบันพระองค์ทรงทำคุณูปการให้กับประเทศชาติประชาชนมากมายมหาศาล แต่การเมืองเราไม่ได้พูดถึงกษัตริย์องค์นี้องค์เดียว เราพูดถึงความต่อเนื่อง ทิศทางของประเทศชาติไปยาวๆนับร้อยๆปี

แต่ประเทศชาติกว้างใหญ่ กษัตริย์องค์หนึ่งไม่สามารถจะดูแลครอบคลุมทั่วถึงได้อยู่แล้ว มันก็หมายถึงว่าการที่ต้องมีคณะทำงานที่ไม่ใช่กษัตริย์ เหมือนเดิม แล้วเราคิดว่า ทุกคนในคณะทำงานใหญ่นั่น จะเป็นคนดีเห็นแก่ประชาชนอย่างกษัตริย์ทุกคนเหรอ ไม่มีใครเบียดเบียนประชาชน เอาประโยชน์เข้าตัวเลยงั้นเหรอ มันก็ไม่ใช่ และยังตรวจสอบไม่ได้อีกด้วย ในขณะที่ปัจจุบันด่านักการเมืองจนคอแตก ก็ไม่ผิดกฏหมายอะไร

เราอาจจะอ่านหนังสือประวัติศาสตร์คนในรั้วในวัง ผู้ดีเก่าที่ตระกูลรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนการปกครอง เล่าถึงชีวิตอันงดงามมุ้งมิ้ง แต่ประชาชนจำนวนมากที่เป็นเบี้ยเล็กเบี้ยน้อยในสมัยนั้นมักไม่มีโอกาสที่จะเล่าชีวิตของตนในมุมที่ต่างกันออกไป

เราว่าการที่คนไทยเห็นกษัตริย์เป็นที่พึ่งแล้วจะให้พระองค์ทรงคิดตัดสินใจทุกอย่าง take it for granted ว่าพระองค์อัจฉริยะสามร้อยหกสิบองศา ท่านไม่เคยคิดอะไรผิดพลาดเลยยิ่งกว่าแมคไกเวอร์ ท่านรู้ทุกอย่างยิ่งกว่าสารานุกรม ท่านดูแลได้ทุกเรื่องราวกับเป็นกล้องฟูจิโกะ มันดูจะเป็นภาระที่ใหญ่หลวงเกินที่จะให้คนๆเดียวแบกเอาไว้อยู่มาก มาก มาก มาก มาก และมันเป็นความคิดที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความจริงแล้วว่า ณ ขณะนี้ประเทศไทยไม่ใช่เล็กแบบเอะอะลั่นระฆังฟ้องพ่ออีกต่อไป

ดีแล้วล่ะที่พระองค์ไม่ต้องมาขลุกการเมือง ทำให้พระองค์มีเวลาทำอะไรให้ประชาชนเยอะแยะมากมายเลย

.

12. ล้มเจ้าโฟเบีย
หลายคนๆค่อนข้างจะสติแตกกับการล้มเจ้า และไม่สามารถแยกเจ้าที่รักออกจากสถาบันได้ (ทำให้เรารู้สึกว่า การสอน คอคิด วอวิเคราะห์ ยอแยกแยะ มันจำเป็นกับชีวิตคนเรามากกว่าการ”บังคับ”เรียนรำไทยที่จะทำให้ร่างกายเราเฟร็กซิเบลล์และสำนึกในจอมพลป.พิบูลสงครามกว่ากันตั้งเยอะ)

เราไม่เคยนิยมการกระทำที่ไปด่าไปทำร้ายคนต่างชาติที่เขาจะทำอะไรก็ตามโดยมีติ่งหนึ่งที่เกี่ยวกับเจ้าที่รัก ทั้งที่มันไม่มีอะไรเลยอย่างหลายๆเคส เช่น เอาธนบัตรหรือเหรียญไปทำงานศิลปะ เอาเพลงในพระราชนิพนธ์ไปเล่นเพราะว่าไพเราะดี ไม่ได้เพราะรักเจ้าของเรา หรือคนในชาติพูดถึงเจ้า ก็สติแตกหาว่าล้มเจ้าแล้ว

เราไม่ปฏิเสธว่ามีคนที่เกลียดเจ้าอยู่จริงในสังคมนี้ คนเกลียดยังไงเขาก็เกลียด แต่เราก็ยังเชื่อว่า มันไม่ใช่คนส่วนใหญ่ และเขาก็มีที่อยู่ของเขา และเจ้าไม่ได้ล้มง่ายขนาดนั้น และเจ้าหลายๆท่านก็ทันสมัยเข้าใจโลก ท่านก็ทำให้เห็นชัดเจนกันว่า ท่านทำตัวเข้ากับยุคสมัยขนาดไหน ท่านสามารถเนียนไปกับสังคมปัจจุบันได้อย่างไร

เราว่าคนที่ล้มเจ้าตัวจริงก็คือพวกที่สติแตกกับพวกรอบข้างเจ้าที่คอยกะเกณฑ์ให้ชาวบ้านทำอะไรไม่เข้าท่าหรือเอาท์ไปแล้วนี่แหละ รวมถึงตัวเจ้าเองด้วยว่าพวกท่านประพฤติตนกันอย่างไร

.

13. People (dead) first
ความจริงวันนี้ นอกจากประชาชนจะเป็นแขนขาของนักการเมืองแล้ว ประชาชนก็ยังตายก่อนนักการเมืองด้วยจ้ะ พวกนักการเมืองที่ประกาศกร้าวว่ายอมตายๆเพื่อนั่นเพื่อนี่ก็ไม่เห็นจะตายสักคน ก็เห็นแต่เบี้ยนี่แหละที่ตาย

.

14. นักการเมืองเล่นละครกันได้แย่มาก
แอคติ้งของนักการเมืองถือว่าสอบตกอยู่หลายคน ถ้านักการเมืองไปเล่นละครจริงๆ เชื่อได้ว่าเล่นได้ห่วย แข็งเป็นท่อนซุงเถื่อนกันเกือบหมด (ยกเว้นนักการเมืองที่เป็นดารามาก่อน) แถมบทก็แย่ ชอบทำอะไรที่มันขัดแย้งกับเบรกที่แล้วอยู่ตลอด

แต่ก็แปลกที่ประชาชนก็ยังอินกับละครที่เล่นเบ่ยๆบทเห่ยๆแบบนี้อยู่ตลอด

.

15. จิตวิญญาณแบบ 14 ตุลายังไม่เกิดขึ้น
14 ตุลา เกิดได้เพราะอุดมการณ์อันแรงกล้าบวกความไร้เดียงสาเป็นแกนนำ นำไปสู่ความสั่นคลอนของฐานอำนาจ มาถึงบัดนี้ ยังไม่มีกลุ่มชุมนุมไหนที่เกิดขึ้นจาก material แบบกลุ่มนักศึกษา 14 ตุลา และส่วนตัวคิดว่า มันก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ถ้าเวทีไหนจะเคลมว่ามันเกิดขึ้น เราก็จะขอบอกว่ามันไม่มี

.

16. พวกมากลากไป ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบพวกมากลากไป แม้จะคล้ายกันก็ตาม

พวกมากลากไปคือไม่กี่คนเป็นหัวโจก หัวโจกว่าไงกีกี้กาก้าก็ต้องว่าตามกัน แบบที่พรรคการเมืองและกลุ่มสังคมทั่วไปในประเทศเป็นอยู่ ส่วนประชาธิปไตยคือการที่ทุกคนฟังทุกคน แต่มันเป็นไปไม่ได้ว่าทำได้อย่างที่ทุกคนต้องการ สมมติว่าประเทศชาติคือร่างกาย เซลล์ทุกส่วนอวัยวะทุกชิ้นคือประชาชนและองค์กรประชาชน ลำไส้ใหญ่อาจจะอยากไปซ้าย ต่อมหมวกไตอาจจะอยากไปขวา เซลล์สามแสนเซลล์อยากไปข้างหน้าเฉียงไปหกสิบองศา แต่ท้ายที่สุดร่างกายทั้งหมดก็ต้องไปด้วยกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง และทางไหนได้โหวตมากสุด ก็ต้องไปทางนั้นด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ดีดเอาเซลล์เอาอวัยวะชิ้นที่ไม่ได้โหวตทางนั้นทิ้งไป

ประชาธิปไตยคือระบอบที่ใครโกยได้ก็โกยเอาก็จริง แต่ก็เป็นระบอบที่ทำให้ทุกคนสามารถมีที่ยืน และแสดงความคิดเห็นได้กว้างที่สุดได้

ถามว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วล้มรัฐบาลได้ไหม ส่วนตัวเราคิดว่า ได้ดิ แต่คุณก็ต้องรับและตระหนักถึงผลเสียที่ประเทศมันไม่ก้าวไปไหนเพราะมันไม่มีเวลาให้คนทำงานด้วย

และมันก็ไม่ใช่เรื่อง นี่ไง พวกตูมีมากแล้ว ล้มได้เว้ย เพราะนั่นมันก็คือเรื่องของพวกมากลากไปอยู่ดี

.

17. Heroes and Villains
สมัยก่อนหนังฮีโร่น่ะดูง่าย ฮีโร่นี่มันก็ดีดี๊ดีแบบคนดูไม่ต้องคิดต่อว่าเฮ้ยมันดีจริงหรือเปล่า อีตัวร้ายก็เลวเล้ววววเลวแบบคนดูไม่ต้องคิดว่าเฮ้ยคนบ้าอะไรจะเลวบัดซบขนาดนี้ รวมไปถึงละครทีวี นิยาย นิทานด้วย เดี๋ยวนี้หนังฮีโร่ก็ซับซ้อนขึ้น ตั้งคำถามกลับมาถึงคนที่ไม่ได้ถูกแปะหน้าว่าฮีโร่หรือตัวร้ายมากขึ้น

โลกของตัวดีและตัวร้ายที่เราคุ้นเคย ทำให้เรามองเห็นโลกง่ายๆว่า เพราะมีตัวร้าย โลกมนุษย์เลยร้าย ก็ต้องมีตัวดีออกมาช่วยโลกมนุษย์ ส่วนประชาชนคนดีไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ต้องตามไปชูป้ายไฟให้ตัวดี คืออีประชาชนนี่ไม่รู้เป็นตัวอะไร รู้แต่เป็นส่วนที่แยกออกมาจากอีตัวร้ายกับอีตัวดี

แต่โลกเรามันไม่ได้แยกแบบนั้น มันไม่ได้มีฮีโร่ ตัวร้าย และประชาชน สามฝ่ายงี้ ประชาชนทุกคนเป็นฮีโร่ได้ เป็นตัวร้ายได้ หรือเป็นทั้งฮีโร่และตัวร้ายในหลอดเดียวกันก็ได้

และคนที่ยึดถือเอาความดีเป็นหลักในการกระทำทั้งหมด ก็ใช่ว่าจะเป็นฮีโร่เสมอไป

.

18. Tip of the Iceberg
เรื่องอำนาจเป็นเรื่องซับซ้อน ประเทศไทยก็ไม่พ้นเรื่องนี้เช่นเดียวกัน สิ่งที่ประชาชนรู้ มักจะเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ที่เห็นว่าใหญ่โต มันเป็นเพียงจึ๋งนึงของส่วนที่เหลือใต้น้ำเท่านั้น เรื่องการเมืองเราเห็นนักการเมืองอยู่แค่นี้ แต่ข้างหลังฉากมันยังมีผู้คนที่เกี่ยวพันอีกมากมายก่ายกอง ไม่ต่างอะไรกับละคอน เราก็วิจารณ์ได้เพียงสิ่งที่เราเห็นแค่หน้าฉากเท่านั้นแหละ แต่นั่นก็เป็นสิทธิของเราที่จะวิจารณ์ เพราะเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากหน้าละคอนนั้นเต็มๆ

รู้สึกเดี๋ยวนี้วงในเรื่องการเมืองนี่เยอะมาก จากประสบการณ์ อีวงในเนี่ย ถ้าข้อมูลไม่แม่น ก็มั่วไปเลย อย่าลืมว่าข้อมูลที่เราได้จากวงใน มันก็เหมือนข้อมูลที่เราได้จากมดตัวหนึ่งที่เกาะขาช้างอยู่แล้วอธิบายเราว่าช้างมีลักษณะเป็นยังไง สัมผัสจริงไหม สัมผัสจริง แต่ถ้วนทั่วไหม อาจจะไม่ก็ได้

.

19. รัฐประหาร 2549
เป็นอะไรที่เรายืนยันมาตลอดว่า ห่วย

ห่วย ในที่นี้ คงต้องบอก context ด้วยว่า ใน context ของการเดินประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเสียเลือดเสียเนื้อกันมามากมายเพื่อประชาธิปไตย เพื่อหลุดจากอำนาจเผด็จการทหารที่ไม่เห็นหัวประชาชนหรือแม้แต่พระเจ้าแผ่นดิน แล้วอยู่ๆก็มีทหารมาบอกว่า มา คิดแทนให้ ล้มๆๆ พอๆๆ แล้วสุดท้ายก็มา “อุ๊บส์” ในภายหลัง

ที่เบ่ยก็คือ ดันมีคนเอาดอกไม้ไปให้ทหาร ไปขอบคุณทหารด้วยนี่สิ

อาจจะมีใครหลายๆคนคิดว่า ก็ถ้าไม่มีใครสะเออะไปยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 7 ก็ไม่ต้องมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นหรอกเว้ย ซึ่งจำนวนมากเป็นคนๆเดียวกับที่คิดว่าประเทศควรกลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทราช

คงไม่บอกว่าถูกหรือผิดที่ไปยึดอำนาจกันมา แต่จะบอกว่า อยู่กับปัจจุบันเถอะ อยู่กับระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่ แล้วให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะปกครองตนเอง เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าๆกันเถอะ

.

20. เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิด
บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับเรา และคิดว่าทักษิณแม่งเป็นจุดเริ่มต้นทุกสิ่งอันอัปมงคลบ้านเมือง ส่วนเรากลับคิดว่า สิ่งที่เกิดในบ้านในเมืองนี้ มันเกินขอบเขตจากสาเหตุหนึ่งเดียวคนนี้ไปเยอะมาก

ยกตัวอย่างการชุมนุมปิดสะพานมัฆวานรังสรรค์ และปิดนู่นปิดนี่รัวๆจากเสื้อสีนั้นสีนี้ มันก็เป็น case study และเป็นสิ่งที่เราก็เห็นตั้งแต่ปิดสะพานวันแรกแล้วว่า มันจะนำไปสู่การปิดถนน ปิดนู่นนี่ในอนาคตอีกมาก เพราะกระจกมันได้เริ่มแตกแล้ว และไม่มีใครซ่อมซะด้วย (อ่านบล็อก ทฤษฎีกระจกแตก)

การปิดสนามบิน การปิดแยกราชประสงค์ มันก็เป็น consequence จากกระจกที่แตกแล้วนั่นแหละ

วันนี้จึงไม่ต้องแปลกใจกับม็อบสวนยางปิดถนน และอื่นๆที่จะตามมาในอนาคตอีกนับไม่ถ้วน

การป้ายสีว่าทุกอย่างเป็นเพราะทักษิณ จึงเป็นข้อหาที่ปัดความรับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองจนเกินไป และนั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับสังคมที่ทุกคนควรปกครองตัวเองเป็น

.

21. 112
ยังไงเสีย พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ก็ถือเป็นบุคคลพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน เราไม่เห็นว่ามันจะเป็นอะไร ถ้าจะมีกฏหมายพิเศษขึ้นมาปกป้องกลุ่มบุคคลพิเศษนี้ เพียงแต่อาจจะต้องมาปรับแก้เพื่อลดช่องโหว่ และทำให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าแตะปั๊บแล้วมีคนสติแตกชี้หน้าด่าว่าล้มเจ้างี้ (กลับไปอ่านข้อ 12 อีกรอบ)

เราอยากให้สถาบันเจ้ายังอยู่ไปพร้อมๆกับอยากให้ไม่มีอากงคนที่2เกิดขึ้นอีก

.

22. ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมตีสี่

.

นี่คือพยายามคิดให้ครบ 22 ข้อแล้วพอละ จบ.